“บวรศักดิ์”เผย กมธ.ยกร่างฯยอมปรับรธน.ให้ทุกฝ่ายรับได้
“บวรศักดิ์” เผย กมธ.ยกร่างฯยึด 4 เจตนารมณ์ปรับแก้ไขรธน.หลายส่วนให้ทุกฝ่ายในสังคมยอมรับได้มากที่สุด ไม่ให้กระทบปรองดอง-ปฏิรูป
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถา ประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 7 เรื่อง “รู้ลึก รู้ชัด กับอนาคตรัฐธรรมนูญ” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ว่า หากการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามโรดแมปแก้ไขเพิ่มเติม ในวันที่ 5-7 กันยายน 2558 นี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จะลงมติโหวตรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ หากสปช.ไม่เห็นชอบ สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ และตั้งคณะกรรมการยกร่างฯใหม่จำนวน 21คน ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 180 วันและทำประชามติ
หลังจากนั้น หากการทำประชามติผ่าน กรรมการยกร่างฯ21 คน จะอยู่ทำกฎหมายลูกต่อไป แต่หากประชามติไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้บอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาแก้ไขแล้วใช้ ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว
“ถ้ากรรมการยกร่าง 21 คน ทำเสร็จส่งไปแล้วลงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 49 ล้านคน ถ้ามา20 ล้านเสียง เสียงข้างมากคือ 10 ล้านเสียงก็ผ่าน แต่ถ้าต่ำกว่า10ล้านเสียง กรรมการยกร่างก็จบ จบแล้วไม่บอกว่าจะทำอย่างไรต่อ แปลว่าแป๊ะยังต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวต่อไป”
ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า จากคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของหลายฝากทั้งสปช. ครม. และประชาชน มีแนวโน้มหลายเรื่องต้องแก้ไข อาทิ หมวดการเมือง มีแนวโน้มว่าคณะกรรมาธิการฯจะปรับจำนวนส.ส.จาก 250/200 คน เป็นส.ส.เขต 300 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 150คน
หรือเรื่องกลุ่มการเมือง มีแนวโน้มเอาออกสูงและให้ตั้งพรรคการเมืองง่าย แต่ต้องมีบทบัญญัติและกลไกพรรคการเมืองไม่ให้เป็นของคนใดคนหนึ่งหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือประเด็น ส.ว.อาจจะต้องปรับ จากที่ให้เสนอกฎหมายได้เป็นกลั่นรองกฎหมายแต่ไม่เสนอกฎหมายเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จุดยืนของกรรมาธิการยกร่างฯเป็นฉันทามติพอสมควรว่าจะดำรงเสาหลัก 4 เสาไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ทำการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมเป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุขแต่เมื่อรับฟัง
“เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ จึงต้องชั่งน้ำหนักแล้วแก้ไข ทั้งคำขอของสปช. ประชาชน ครม.และคสช. แม้คสช.เขาไม่ยุ่งแต่คสช.เกือบทุกคนนั่งอยู่ในครม. ก็ต้องฟังแป๊ะเหมือนกัน ไม่ฟังไม่ได้”ดร.บวรศักดิ์ กล่าวและว่า
“ครม.เน้นมากว่า ให้จำเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2549-22 พฤษภาคม 2557 ให้ดี หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วลงมือตีกันอีก บ้านเมืองก็อยู่ไม่ได้ ครม.จึงเน้นมากว่าหมวดปฏิรูปสำคัญ ต้องดูแลให้การปฏิรูป การปรองดองไปได้ ถ้าเราจะเอาความสงบก็อาจจะต้องมีผู้รักษากติกา ถ้าจะเอาความวุ่นวายก็ไม่เป็นไร เลือกตั้งเสร็จก็ปล่อยไป”
“วันนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทยรับได้แค่นี้ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามทำให้ทุกฝ่ายรับได้ในภาวะปัจจุบันของสังคมไทย อาจจะไม่ถูกใจ100% กับใครสักคน แต่ก็ไม่ขัดใจคนถึงขนาดจะทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่พยายามประสานประโยชน์และความรู้สึกของทุกกลุ่มในสังคมให้มากที่สุด”
ขอบคุณภาพจาก www.bangkokbiznews.com