“วิษณุ”แจงสภาขับเคลื่อนฯพ้นเมื่อไหร่-“บิ๊กตู่”สร้างแรงจูงใจลงประชามติ
ชัด ๆ คำตอบจาก “วิษณุ” ปมสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศสิ้นสุดเมื่อไหร่-ถ้ายุบ สปช. แล้วคนที่อยู่ใน กมธ.ยกร่างฯ พ้นด้วยหรือไม่-รณรงค์เพิ่มผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบข้อซักถามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่เกี่ยวกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และการทำประชามติ
----
คำถาม : ในกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มี สปช. อยู่ด้วย 20 ราย ถ้าหาก สปช. ถูกยุบ สปช. 20 รายเหล่านั้น จะยังปฏิบัติหน้าที่ใน กมธ.ยกร่างฯ หรือไม่
วิษณุ : คำตอบคืออยู่ ถ้า กมธ.ยกร่างฯ 36 คนยังอยู่ สปช. 20 คน ที่เข้าไปนั่ง กมธ.ยกร่างฯ ก็ต้องอยู่ เพราะ มาตรา 32 ของรัฐธรรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กำหนดว่า ให้ สปช. เลือกบุคคล 20 คน เข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งเลือกคนนอกก็ได้ แต่เอาเข้าจริง สปช. ไม่ยอมเลือกคนนอก ท่านเลือกคนของท่านเอง ก็ไม่ว่ากัน การเป็น สปช. หรือไม่เป็น สปช. ไม่ใช่คุณสมบัติของ กมธ.ยกร่างฯ เพียแต่ขอให้ สปช. เลือกเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อ 20 คนดังกล่าว มาจาก สปช. ก็จบหน้าที่ตรงนั้น (หมายถึง สปช.) แต่ถ้า กมธ.ยกร่างฯ อยู่ ท่านก็อยู่
อย่างไรก็ดีถ้า กมธ.ยกร่างฯ โควตา สปช. ล้มหายตายจาก หรือลาออก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเดิม ระบุให้ สปช. เลือกเข้าไปซ่อมตรงนั้น แต่เราคิดเผื่อไปแล้ว จึงขอแก้ว่า จะต้องกลับไปที่หัวหน้า คสช. ริบโควตาคืนไปเป็นผู้ตั้ง เพราะไม่มี สปช. ให้ตั้งอีกแล้ว ปัญหาเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น
คำถาม : สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะพ้นวาระเมื่อใด
วิษณุ : รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้เขียนไว้ จนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไปกำหนดว่า จะให้อยู่ตอนไหน เหมือน สปช. ที่ขณะนี้อยู่จนถึงตอนไหนก็ไม่รู้ ต้องดูในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ สมมติ สปช. ไม่ถูกยุบจะอยู่ไปจนกระทั่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนจัดให้มีการเลือกตั้ง กระทั่งถึงวันที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญครั้งแรก วันนั้น สปช. จะพ้นจากหน้าที่ไป
ฉะนั้นสภาขับเคลื่อนคงอนุโลมอย่างเดียวกัน อยู่ไปจนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่รู้มีเมื่อไหร่ ตลอดจนการเลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้เลือกเมื่อไหร่ เลยมาถึงการประกาศผลเลือกตั้ง จนถึงวันที่พระมหากษัตริย์เสด็จเปิดรัฐสภาครั้งแรกเช่นกัน ก็จะอยู่ถึงวันนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุให้อยู่เจนถึงตั้งรัฐบาลใหม่ ก็อยู่ไปถึงตอนนั้น
ขณะเดียวกัน นายวิษณุ ยังระบุถึงกรณีการทำประชามติด้วยว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. แนะนำว่า เมื่อปี 2550 ตอนทำประชามติมีผู้มาใช้สิทธิมาก และบัตรเสียก็ไม่ได้มาก ครั้งนี้ควรรณรงค์เพิ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดี ที่จริงผมประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงมหาดไทยแล้ว จะนำไปเสนอแนะต่อที่ประชุมว่า ควรรณรงค์ให้มีผู้มาใช้สิทธิให้มาก และทำอย่างไรให้ออกเสียงไปแล้วได้ประโยชน์ จึงฝาก กกต. ให้ช่วยคิด ซึ่ง กกต. ก็บอกว่ามีวิธีการทำให้เกิดการจูงใจขึ้น ซึ่งจะต้องดำเนินการต่อ และได้ความอย่างไรจะรายงานต่อไป
“นายกฯ เคยปรารถว่า จะมีวิธีสร้างแรงจูงใจอะไร ให้ผู้มาใช้สิทธิ์ประชามติมีมากขึ้น ไม่ใช่จูงใจแบบผิดกฎหมาย ไม่ใช่ไล่แจกเงิน ตรงนี้ชี้แจงว่า การไม่ออกเสียงประชามติ ไม่มีโทษ”
อ่านประกอบ :
ไฟเขียวยกสภา! สนช.ผ่านวาระ 1 แก้ รธน.ชั่วคราวปูทางทำประชามติ
“บิ๊กป๊อม”ยันปลดล็อคม.8ให้เกียรติคนถูกเว้นวรรคการเมือง“รบ.รู้คนไหนดีไม่ดี”