สปช.เปิดเวทีรับฟังความเห็น 16 ปี กม.แข่งขันทางการค้า ไม่เป็นที่พึ่งหวัง มีไว้แค่โชว์
"รสนา โตสิตระกูล" เล็งรวบรวมความเห็น ร่างพ.ร.บ.แข่งขันฯ 2 ฉบับ ผนวกเข้าให้เป็นฉบับเดียว เพื่อนำเสนอในที่ประชุมสปช. รวมถึงนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
วันที่ 17 มิถุนายน คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่อง " กฎหมายแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปอย่างไร เพื่อป้องกันการผูกขาดและสร้างความเป็นธรรม" ณ โรงแรมเอเชียกรุงเทพ เขตราชเทวี เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศให้เป็นธรรม โดยมีนายประชา เตรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. กล่าวเปิดงาน
รศ.ดร.วินัย ดะลันห์ อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แนวนโยบายและปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. กล่าวถึงการสร้างจุดคานงัดของสังคม สร้างแต้มต่อให้กับผู้บริโภคว่า นักการเมือง ข้าราชการ ไม่สามารถต่อต้านอำนาจทุนได้ จึงจำเป็นต้องมีกลไกทางกฎหมายปรับดุลให้สังคม
"พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ปี 2542 ไม่มีเรื่องของผู้บริโภค สามารถดูได้ในมาตรา 6 และมาตรา 8 ที่เกี่ยวข้องเรื่องของคณะกรรมการ มีแต่นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีตัวแทนจากผู้บริโภค" รศ.ดร.วินัย กล่าว และว่า ดังนั้นสิ่งที่กฎหมายจะต้องออกแบบออกมา คือ ต้องดันผู้บริโภครวมตัวกัน สร้างแต้มต่อให้ผู้บริโภค เช่น สามารถฟ้องร้องแทนผู้เสียประโยชน์ได้ ขณะเดียวกันกฎหมายก็ต้องป้องกันการผูกขาด ของภาคธุรกิจด้วย ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
รศ.ดร.วินัย กล่าวถึงมาตรา 25-28 ในพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ปี 2542 เขียนไว้ดีมาก ใส่ไว้หมด อำนาจเหนือตลาด การผูกขาด แต่ในมาตรา 6 ออกแบบให้ฝ่ายข้าราชการ นักธุรกิจ ดูแลกันเอง ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคการออกกฎหมายลูก คณะกรรมการขาดอำนาจที่เป็นอิสระ เพราะถูกออกแบบให้ข้าราชการทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้น 16 ปี กฎหมายแข่งขันฯ แม้ถูกออกแบบมาดี แต่วิสัยทัศน์มีปัญหา เนื่องจากไม่ได้ให้อำนาจต่อรองกับผู้บริโภค รวมถึงไม่มีตัวอย่างของการฟ้องร้องที่ประสบความสำเร็จเลย แม้จะมีกรณีของบริษัทฮอนด้าก็ตาม
ด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTAWATCH) กล่าวว่า ระยะเวลา 16-17 ปีที่มี พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ กฎหมายตัวนี้ไม่สามารถเป็นพึ่งหวังให้กับผู้บริโภค หรือออกแบบมาเพื่อประชาชนได้เลย กลายเป็นกฎหมายธุรกิจเพื่อธุรกิจ ฉะนั้น หากจะมีการแก้ไขกฎหมายแข่งขันฯ ต้องแก้เพื่อประชาชนจริงๆ
ส่วนดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ อนุกรรมาธิการปฏิรูปการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. กล่าวถึง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ เหตุใดที่ผ่านมาใช้บังคับไม่ได้ โดยเกิดจาก
1.ปัญหาของลักษณะธุรกิจที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ ฯ หรือธุรกิจประกันภัย จะมีคณะกรรมการดูแลกำกับอยู่ ปัญหาคือทำให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ภายใต้ 2 คณะกรรมการ ซึ่งธุรกิจไหนมีคณะกรรมการพิเศษดูแลอยู่แล้ว เช่น กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปก.) ควรให้คณะกรรมการนั้นๆ ดูแลหรือไม่ และคณะกรรมการแข่งขันฯ ก็ไม่ต้องเข้าไปทำงานซ้ำซ้อนกัน
ส่วนบุคคลภายใต้กฎหมายนี้ มาตรา 4 ใน พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ เว้น รัฐวิสาหกิจ รวมถึงธุรกิจการบินพาณิชย์ ปิโตรเลียม ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย นี่จึงเป็นปัญหาไม่ลงมาแข่งกับภาคเอกชน
2. คณะกรรมการแข่งขันฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งขาดความรู้และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมาจากภาคธุรกิจ มีลักษณะขัดผลประโยชน์ในตัวเอง ส่วนสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันฯ ที่เป็นฝ่ายเลขาฯ ต้องการคนมีความรู้ทางกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กลับถูกแปะอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้เชี่ยวชาญโดยตรงรวมถึงจำนวนคนทำงานและงบประมาณก็น้อย เป็นต้น
3.กฎหมายขับเคลื่อนไม่ได้ เป็นปัญหาของบทบัญญัติเอง คือ ไม่มีความเป็นพลวัฒน์ ไม่ชัดเจนในองค์ประกอบของกฎหมายอาญา กฎหมายไม่สามารถบังคับได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งการทำงานของเจ้าหน้าที่ และบทบัญญัติบางมาตรา เช่น มาตรา 28 ที่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ ควรนำไปอยู่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคดีหรือไม่
และ 4.การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด มีปัญหากระบวนการทางกฎหมาย การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง การกำหนดค่าเสียหาย กับอายุความ การรวบรวมพยานหลักฐานที่ยังเป็นปัญหา รวมถึงมีคำสั่งของกฎหมายบางมาตรายังมีความลักลั่น
จากนั้น ในเวทีมีการแบ่งกลุ่มย่อยรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยนางสาว รสนา โตสิตระกูล ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมเชิงประเด็นขององค์กรที่สำคัญ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วม และรับฟังความเห็นประชาชน สปช. กล่าวสรุปว่า ร่างพ.ร.บ.แข่งขันฯ ฉบับคณะกรรมาธิการปฏิรูปเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ และร่างพ.ร.บ.แข่งขันฯ ฉบับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ทางทีมงานจะทำให้เป็นฉบับเดียว เพื่อนำเสนอในที่ประชุมสปช. รวมถึงนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป หวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการผลักดันจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในอนาคต