“ไพบูลย์”ชี้ชนวน“บิ๊กตู่”ยุบสปช.ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ เหตุโฟกัสแต่รธน.ไม่ทำปฏิรูป
“ไพบูลย์” ชี้ชนวน “ประยุทธ์” ยุบทิ้ง สปช. ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ เหตุโฟกัสแต่เรื่อง รธน.ใหม่ ไม่ใส่ใจทำปฏิรูป ส่งผลให้เกิดความล่าช้า เวลาอาจไม่ตรงโร้ดแม็พ ยันไม่ใช่สภาสั่งได้เบ็ดเสร็จ แต่ดำเนินการไปทิศทางเดียวกับ คสช.-รบ. หนุนเปิดช่องให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั่งเก้าอี้ได้ เป็นไปตามหลักนิติธรรม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณยุบ สปช. และตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ ขึ้นมาแทนว่า บทบาทของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ที่จะตั้งขึ้นมาแทน สปช. นั้น จะเน้นไปที่การปฏิรูปมากกว่า โดยจะเป็นการรับแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปของ สปช. มาทำต่อ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากบทบาทที่ผ่านมาของ สปช. มักเน้นไปที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นหลัก ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดำเนินการด้านปฏิรูปเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีการตั้ง กมธ.การปฏิรูป ที่ซ้ำซ้อนหน้าที่กันอยู่ จึงเกิดความล่าช้า และทำให้การปฏิรูปอาจไม่ตรงกรอบตามโร้ดแม็พได้
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยออกมาระบุว่า สปช. สั่งไม่ได้จึงต้องตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ขึ้นมาแทน เพื่อให้สั่งได้นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับการสั่งได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา สปช. มักโฟกัสไปที่การยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เน้นการปฏิรูปเสียมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้ดำเนินการด้านปฏิรูปมากขึ้น จึงตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯขึ้นมาแทน อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ จะถูกสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ แต่เป็นเพียงการรับลูก และดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันกับ คสช. และรัฐบาล มากกว่า จะให้เห็นชอบไปหมดแบบคณะรัฐมนตรี คงจะไม่ใช่ เพียงแต่ต้องการให้ดำเนินไปตามกรอบเดียวกันเท่านั้น
นายไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีเปิดช่องให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามาเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปได้ด้วยว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน คือ ผู้ที่กระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง กับผู้ถูกกระทำ ดังนั้นถ้าหากเป็นผู้กระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง ย่อมไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งใด ๆ แต่หากเป็นผู้ถูกกระทำ เช่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ย่อมสามารถดำรงตำแหน่งได้หากพ้นการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีแล้ว ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ระบุไว้ เพียงแต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เขียนปิดกั้นไว้หมด ทั้งนี้ถ้ามองด้วยหลักนิติธรรมก็ควรเปิดกว้าง เพราะเขาเป็นผู้ถูกกระทำ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ย่อมเป็นเรื่องที่ดี และไม่คิดว่าจะกระทบปัญหาอะไร แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า เขาเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่ผู้กระทำการทุจริต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก aecnews