ภัยแล้งวิกฤติหนัก! นักวิชาการ วสท.แนะรัฐบริหารความเสี่ยงจัดการน้ำ
เขื่อนเหลือน้ำน้อยเข้าขั้นวิกฤติ! นักวิชาการ วสท.ชี้เป็นผลพวงจัดการน้ำผิดพลาด ปี 55 แนะรัฐอย่ารับปากซี้ซั้ว กำหนดเวลาทำนาปีแน่นอน เหตุใช้กับธรรมชาติไม่ได้ ‘บัญชา ขวัญยืน’ หวัง กม.ทรัพยากรน้ำ ช่วยแก้ปัญหาอนาคต
สถานการณ์ภัยแล้งของไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง และตกท้ายเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนหลักเหลือน้อยถึงขั้นวิกฤต ด้วยสาเหตุนี้ภาครัฐจึงขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะข้าวนาปีออกไปเป็นเดือน ก.ค. พร้อมวอนขอให้ทุกคนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
รศ.ดร.สุวัฒนา จิตลดากร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งเป็นวัฏจักรปกติของธรรมชาติ แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขณะนี้มีผลพวงมาจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดเมื่อปี 2555 ด้วย ซึ่งได้เร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนจำนวนมาก เพราะหวั่นจะเกิดน้ำท่วมซ้ำเหมือนปี 2554 อีก
"ฤดูกาลเคลื่อน เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับปัจจุบันฝนยังตกไม่มาก เรียกว่า ช้าออกไปเป็นเดือน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รุนแรงกว่านั้น คือ รัฐบาลสั่งชะลอการเพาะปลูกพืชของเกษตรกร โดยช่วงแรกให้เหตุผลเก็บน้ำไว้ไล่น้ำเค็มสำหรับคนกรุงเทพฯ และยืนยันจะปล่อยน้ำเพื่อการเพาะปลูกในเดือน พ.ค. แต่ข้อเท็จจริงทำไม่ได้ เพราะน้ำมีปริมาณน้อย จนปัจจุบันต้องให้ชะลอออกไปอีก"
รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวอีกว่า เวลานี้รัฐบาลต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง ส่วนจะเสี่ยงมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ฉะนั้นไม่ควรพูดว่า เกษตรกรเพาะปลูกพืชได้ 100% เมื่อไหร่ เพราะใช้กับธรรมชาติไม่ได้ การพูดแบบการเมือง จึงทำให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา
ด้านรศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวถึงการปรับตัวของเกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยแล้งว่า ปีที่ผ่านมาฝนตกน้อยกว่าปกติ 5% และปีนี้พยากรณ์ว่าฝนจะตกน้อยกว่าปกติ 10% เพราะฉะนั้นเกษตรกรทำนาปีได้ เพียงแต่ช่วงปลายฤดูอาจต้องเก็บน้ำไว้ในแหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ เต็มที่ เพื่อใช้เพาะปลูกพืชอายุสั้นแทน
ส่วนแนวโน้มทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางนั้น นักวิชาการ มก. กล่าวว่า ขณะนี้น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ มีน้ำใช้เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าปกติในรอบหลาย 10 ปี จึงอาจจะเกิดภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และปีนี้ไม่มีทางฝนตกน้ำเต็มทั้ง 4 เขื่อน
รศ.ดร.บัญชา กล่าวด้วยว่า อนาคตรัฐบาลต้องสร้างเกณฑ์บริหารจัดกรน้ำในเขื่อนให้ชัดเจน และประกาศให้ทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงใช้ผลพยากรณ์ล่วงหน้ามาคำนวณสถานการณ์ ภายใต้ความรู้ด้านวิชาการ เพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำมากขึ้น เพื่อเกษตรกรจะได้เตรียมตัวต่อไป ถ้ายังไม่เชื่อ คิดว่ารัฐบาลต้องใจแข็ง โดยยืนยันไม่สามารถจ่ายน้ำให้ได้ มิฉะนั้นจะเกิดการลักลั่นกัน
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่กำลังจะถูกผลักดันเป็นกฎหมาย จะช่วยสร้างกฎกติกาควบคุมบริหารจัดกรน้ำในอนาคตได้ แต่รัฐบาลไม่ควรบังคับใช้กฎหมายทั้งหมด เพียงแต่เป็นเครื่องมือช่วยบอกเกษตรกรว่า จะนำน้ำในฤดูแล้งใช้ไม่ได้ ขั้นตอนต้องเริ่มจากการประชาสัมพันธ์ ตักเตือน และส่งเจ้าหน้าที่ดูแล อาจไม่ถึงต้องใช้บทลงโทษก็ได้ .