ก.มหาดไทยเสนอเก็บขยะ 220 บาท/ครัวเรือน/เดือน
หนักอึ้ง! ภาระบริหารจัดการขยะ ล้นเมือง 23 ล้านตันต่อปี มหาดไทยเผยไทยต้องใช้งบฯ กว่า 1.3 หมื่นล้าน/ปีกำจัดขยะ แต่เก็บได้จริงแค่หลักพันล้าน หวั่นเป็นภาระให้ท้องถิ่น เสนอรัฐตั้งงบฯ อุดหนุน ปีละ 3 พันล้าน ดึงเอกชนร่วมลงทุน หนุนครัวเรือจ่ายเพิ่ม
วันที่ 16 มิถุนายน พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงเรื่องการบริหารจัดการขยะ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ที่เสนอให้มีการจัดกลุ่มขยะมูลฝอย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
“พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะประมาณ 23 ล้านตันต่อปี หรือตกวันละ 6 หมื่นตัน ขณะเดียวกันก็มีขยะสะสม (ที่มีอยู่เดิม) กว่า 30 ล้านตัน กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่การดำเนินการจัดการขยะยังไม่มีมาตรฐานที่น่าพอใจ”
พลตรีสรรเสริญ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข กำหนดค่าธรรมเนียมเก็บขยะ 40 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน แต่ในการปฏิบัติจริง มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมขยะที่ไม่เท่ากัน เฉลี่ยเก็บอยู่ในอัตรา 23 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน น้อยกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือวันหนึ่งแต่ละครอบครัวเสียค่าบริหารจัดการขยะไม่ถึง 1 บาท รวมกันทั้งประเทศไม่เกิน 2 พันล้านบาทต่อปีทั่วประเทศ แต่การบริหารจัดการขยะ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณถึง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ที่เกินมาจากงบประมาณของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบกับ กฎหมายการบริหารขยะก็ไม่เคยมีการปรับปรุงเลยเลย
“อัตราเฉลี่ยค่าบริหารจัดการขยะที่เหมาะสมอยู่ที่ 220 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน โดยแยกออกเป็นค่าเก็บขยะจากต้นทางไปยังปลายทาง ค่ารวบรวมขยะ 65 บาท และค่ากำจัด 155 บาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ เป็นตัวเลขที่อยู่ในช่วงการศึกษาข้อมูลเท่านั้น ยังไม่ได้จะปรับขึ้นทันที” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณบริหารจัดการขยะ จะมาจากหลากหลายวิธี ซึ่งนอกจากเก็บจากครัวเรือนแล้ว กระทรวงมหาดไทยยังเสนอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณปีละ 3 พันล้านบาท รวมถึงรัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การบริหารจัดการขยะ เป็นต้น
ส่วนของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนั้น พลตรีสรรเสริญ กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจเพิ่มเติมในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะ และสิ่งปฏิกูลได้ โดยครม.ให้มหาดไทยไปดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง