ผลวิจัยพบผู้ผลิตสีทาบ้านลดใช้สารตะกั่วแล้ว จี้ กมอ. เร่งชงมาตรฐานบังคับให้ ครม.อนุมัติ
สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารปี 2558 มูลนิธิบูรณะนิเวศ พบแม้ผู้ผลิตสี 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน เลิกใช้ในบางยี่ห้อแต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ วอนกมอ. เร่งเสนอมาตรฐานบังคับให้ ครม. อนุมัติ คุมปริมาณสารตะกั่วสีทาบ้าน ป้องกันเด็กไทยได้ผลกระทบจากโรคพิษตะกั่ว
วันที่ 15 มิถุนายน 2558 มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว "สีปลอดสารตะกั่วใกล้เป็นจริง" ณ ห้องประชุม Dipak C.Jain ชั้น 1 อาคาร ศศนิเวศ จุฬาฯ
นางสาวอัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปี 2558 นี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศได้สำรวจตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร 100 ตัวอย่าง จาก 56 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ 35 บริษัท (โทนสีขาว 41 ตัวอย่างและโทนสีสด 59 ตัวอย่าง) พบมีผู้ประกอบการผลิตสีปลอดสารตะกั่วจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผลการสำรวจตลาดสีเมื่อปี พ.ศ. 2556
โดยพบว่า ในปี 2558 ผลิตภัณฑ์สีกลุ่มโทนสีขาว มีผลิตภัณฑ์สีปลอดสารตะกั่วเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68 ขณะที่ในปี 2556 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 29 และผลิตภัณฑ์สีกลุ่มโทนสีสดมีสีปลอดสารตะกั่วเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24 จากที่ในปี 2556 มีเพียงร้อยละ 2
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 หรือ 11 บริษัทใน 35 บริษัท ที่ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว และมีบางรายเลิกใช้สารตะกั่วในกลุ่มสีขาวและสีสดทุกยี่ห้อ
นางสาวอัฏฐพร กล่าวว่า แต่ยังมีผู้ผลิตสียักษ์ใหญ่บางรายที่สามารถผลิตสีปลอดสารตะกั่วได้ แต่ยังมีการใช้สารตะกั่วปริมาณสูงมากในการผลิตสีบางยี่ห้อของตน และยังโฆษณาว่า เป็นสีที่เหมาะสมใช้งานตกแต่งภายในอาคารและบ้านเรือน
"ผู้ผลิตสีระมัดระวังการใช้ฉลาก "ไร้สารตะกั่ว"มากขึ้น โดยฉลากที่ผู้ผลิตเลือกใช้มี 2 แบบ คือ 1. ฉลากไร้สารตะกั่ว ซึ่งเป็นฉลากที่ผู้ผลิตทำขึ้นเอง 2. ฉลาก มอก.327-2553 เป็นฉลากที่รัฐบาลให้การรับรองและกำหนดให้มีสารตะกั่วไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม จากการสำรวจพบ 26 ตัวอย่างที่แสดงฉลากโฆษณาว่าเป็นสีปลอดสารตะกั่ว"นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว และว่า แม้ว่าผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการใช้ฉลากมากขึ้น แต่ฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ไร้สารตะกั่ว ซึ่งผลิตโดยผู้ประกอบการยังถือว่า มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าฉลาก มอก.
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของมูลนิธิฯ ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างราคากับการใช้สารตะกั่ว กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างสีปลอดสารตะกั่วในขนาดบรรจุ ¼ แกลลอน มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 69 ถึง 359 บาทต่อกระป๋อง ขณะที่สีที่มีปริมาณสารตะกั่วสูง (เกิน 100 พีพีเอ็ม) ในขนาดบรรจุเท่ากัน มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 64 ถึง 315 บาท ข้อมูลที่พบจึงไม่บ่งชี้ว่า สีที่มีสารตะกั่วจะมีราคาถูกกว่าสีปลอดสารตะกั่ว อย่างไรก็ดีการกำหนดราคาสีในท้องตลาดมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก
สารตะกั่วจากฝุ่นสี กระทบต่อสติปัญญาเด็ก 0-6 ปี
ด้านรศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สารตะกั่วเป็นพิษต่อพัฒนาการเซลล์สมองของเด็กเล็ก การได้รับสารตะกั่วจากฝุ่นสีโดยเฉพาะในเด็กวัย 0-6 ปีจะส่งผลให้สติปัญญาบกพร่องและก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นและพฤติกรรมก้าวร้าว แม้ได้รับสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อย เนื่องจากไม่มีระดับสารตะกั่วที่ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์
"องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ในแต่ละปีมีเด็กในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ที่มีสติปัญญาบกพร่องเพราะพิษตะกั่วสูงถึง 600,000 คน ซึ่งภาวะนี้ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างมหาศาล" ศ.นพ. อดิศักดิ์ กล่าว และว่า ปัญหาจริงๆ คือ สีน้ำมัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมควรประกาศมาตรฐานสีที่ทาภายในให้ชัดเจน ผู้ผลิตควรรู้ว่า สีมีปริมาณสารตะกั่วเท่าไหร่ ถ้าเกิน 100 พีพีเอ็ม ควรระบุในฉลากให้ชัดเจน ห้ามทาภายใน เครื่องประดับ
ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการที่สารตะกั่วอยู่ในส่วนผสมของสีนั้น มีแต่ข้อดีหมดในด้านกระบวนการการผลิต ทั้งทางด้านสีทีได้จะมีความสดกว่า ทนทาน ป้องกันสนิมได้ แต่ก็มีโทษหลายด้านที่ทางด้านผู้ประกอบการอาจมองไม่เห็น ฉะนั้นภาครัฐควรออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองดูแลทุกคนในสังคม
"ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือมากขึ้น และเชื่อว่าอีกไม่นาน ประเทศไทยจะมีสีที่ปลอดสารตะกั่วอย่างแท้จริง"
ส่วนนายชาญณรงค์ ไวยพจน์ ประธานอนุกรรมการวิชาการด้านวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวสนับสนุนนโยบายการเพิกถอนสารตะกั่วจากสี เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ เนื่องจากเมื่อสีปนเปื้อนสารตะกั่วถูกใช้งานแล้วจะต้องเป็นภาระของผู้ปกครองและโรงเรียนในการขูดลอกสีอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันมิให้ฝุ่นตะกั่วแพร่กระจายสู่สภาพแวดล้อม
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเตือนผู้บริโภคเรื่องการหลอกลวงทางฉลาก กรณีสีบางยี่ห้อแสดงฉลากโฆษณาว่า “ไม่ผสมสารตะกั่ว” แต่กลับตรวจพบสารตะกั่วสูงถึง 35,000 พีพีเอ็ม พร้อมเรียกร้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งประกาศให้สีทาบ้านเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
เรียกร้อง กมอ. เร่งเสนอมาตรฐานบังคับให้ ครม. อนุมัติ
ขณะที่นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติได้กำหนดให้การเพิกถอนสารตะกั่วจากสีเป็นวาระเร่งด่วน โดยจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint - GAELP) และกำหนดเป้าหมายให้รัฐสมาชิกทุกประเทศออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในการผลิตสีภายในปี 2563
"ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเนปาล โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เตือนผู้ประกอบการไทยให้ปฏิบัติตามกฎหมายต่างประเทศอย่างเคร่งครัดและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการส่งออก เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกสีทาและวานิชไปฟิลิปปินส์เฉลี่ยปีละ 616 ล้านบาท"
นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นผู้ผลิตสีขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 95 ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรฐานบังคับให้เลิกใช้สารตะกั่ว และเสนอให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมามาตรฐานสมัครใจไร้สภาพบังคับทำให้ในท้องตลาดสีของไทยยังมีผลิตภัณฑ์สีที่มีสารตะกั่วอีกจำนวนมาก กลุ่ม SMEs ยังเสนอให้รัฐเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และให้การสนับสนุนเชิงเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันเสร็จแล้ว (มอก. 2625-2557) แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลเป็นมาตรฐานบังคับ จึงเรียกร้องให้ กมอ. เร่งเสนอมาตรฐานบังคับให้ ครม. อนุมัติ เพื่อคุ้มครองสุขภาพและสติปัญญาของเด็กไทย และป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจในอนาคต
เอกสารประกอบ