วช.-ส.สิ่งแวดล้อมไทยหนุนเอกชน ‘จัดซื้อจัดจ้างสีเขียว’ ลดใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย
วช-สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยหนุนภาคเอกชน ‘จัดซื้อจัดจ้างสีเขียว’ เน้นเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อผลักดันสำเร็จลดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยได้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีเเก่องค์กร
วันที่ 15 มิถุนายน 2558 ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย แถลงข่าว ‘การขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐสู่การปฏิบัติภาคเอกชน’ ภายใต้โครงการจัดทำแนวทางการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวในภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีบริษัทเอกชนหลายองค์กรเข้าร่วมรับฟัง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวว่า ภาครัฐและภาคเอกชนจัดซื้อสินค้าหรือบริการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่เบียดเบียนเกินเหตุ ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตและระบบการขนส่งต้องไม่ปล่อยมลพิษกำจัดยากหรือก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการออกแบบสินค้าต้องมีอายุใช้งานยาวนาน ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่มีสารโลหะหนัก จนทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีกำจัดต้นทุนสูง หากผลักดันสำเร็จจะลดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยในอนาคตได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยมีฉลากรับรองหลากหลาย อาทิ ฉลากเขียว ฉลากลดคาร์บอน ตะกร้าเขียว และได้ขับเคลื่อนเรื่องจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวในภาครัฐมา 5 ปีแล้ว และกำลังขับเคลื่อนไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งมีหลายบริษัทเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้จัดทำคู่มือแนะนำการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวไว้ หากบริษัทใดสนใจสามารถขอรับได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวต่อว่า บริษัทที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจัดซื้อจัดจ้างโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะก่อให้เกิดการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดรายจ่ายด้านจัดการของเสีย อีกทั้ง ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ซึ่งถือเป็นบทบาทหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
ด้านนายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุถึงสาเหตุเลือกการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเป็นนโยบายหลักของปตท.ว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพอสมควร อีกทั้ง เราต่างใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ใช้ง่ายอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบ ฉะนั้นเพื่อให้เดินไปข้างหน้าและอยู่ร่วมกันได้ ต้องมีการบริหารจัดการมุ่งไปสู่อนาคต
โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ผู้บริหาร ปตท. กล่าวว่า ได้จัดทำเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร ปตท. 16 หมวดรายการ เช่น การเช่าซื้อรถยนต์ การก่อสร้าง รวมถึงการจัดซื้อสินค้า Stationary ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว โดยการประกาศเกณฑ์การจัดซื้อดังกล่าวเป็นนโยบายหลักในองค์กรให้ทุกหน่วยงานใน ปตท.นำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ทั้งนี้ ปี 2557 ผลจากการคำนวณการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบว่า ปตท.สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 18,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี ซึ่งเทียบเท่ากับ Co-benefit ด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น สามารถลดการใช้น้ำมันเบนซิน 7 ล้านลิตร/ปี หรือการลดใช้ไฟฟ้าราว 180 MWh/ปี
นายปิติพันธ์ ยังกล่าวว่า เมื่อ ปตท.เริ่มต้นดำเนินการแล้วก็หยุดไม่ได้ ต้องทำต่อไป และวางเป้าหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีการเพิ่มเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวให้ครอบคลุมสินค้าเเละบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเเละบริการ เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้าให้บริษัทคู่ค้าที่ทำธุรกิจร่วมกับ ปตท. (Green Supply Chain) ตามเเนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
โดยคาดการณ์ ปตท.มีอัตราการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และจะทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 24,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี ภายในปี 2563 ซึ่งเทียบเท่าการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าขนาด 5 MW ตลอด 7 ปี หรือเทียบเท่าปลูกป่าชายเลน (ต้นโกงกาง) เพื่อเก็บกักคาร์บอน 54,000 ไร่
ขณะที่นางยศวดี อึ้งวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญระบบวิจัย (ด้านวิทยาศาสตร์) วช. กล่าวว่า ส่วนใหญ่สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาจากการวิจัยและพัฒนา แม้กระทั่งกระดาษทิชชู่ เพื่อให้ทุกอย่างกลายเป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่ง วช.และเครือข่ายองค์การบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนนักวิจัยและผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ คัดสรรวัตถุดิบ และผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“ที่ผ่านมา วช.มีทุนวิจัยและพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่นักวิจัยภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่สังกัดสถาบันการศึกษา จึงอยากสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมขอรับทุนดังกล่าวเพิ่มด้วย” ผู้เชี่ยวชาญระบบวิจัยฯ กล่าว และว่า กรอบสนับสนุนการวิจัยเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะการนำงานวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จะช่วยภาคเอกชนอย่างมาก ในแง่การลดความเสี่ยงไม่ต้องทดลองเอง โดยปัจจุบันมีภาคเอกชนให้ความสนใจอย่างมาก .