ศธ.ตั้ง 9 ยุทธศาสตร์ศึกษารองรับอาเซียน-สพฐ.วิจัยห้องเรียนนำร่องแท็บเล็ต
“วรวัจน์” แบ่งงาน 9 ยุทธศาสตร์การศึกษา 5 หน่วยงานหลัก ให้ สนง.เลขาสภาศึกษาฯเป็นแม่งาน ด้าน สพฐ.มอบ มศว.ประสานมิตร วิจัย 5 โรงเรียนนำร่องแท็บเล็ต เฟ้นข้อดี-เสีย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่าจากการประชุมยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการปรับแผนครั้งสำคัญของ ศธ.เพื่อขับเคลื่อนรองรับการปรับตัวครั้งใหญ่ของประเทศ ในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งเป็นการวางนโยบาย ยุทธศาสตร์การจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับงบประมาณ และบูรณาการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงขับเคลื่อนไปในทิศทางและเป้าหมายที่ตรงกัน
นายวรวัจน์ กล่าวต่อว่า มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดูแลภาพรวมด้วยการบูรณาการยุทธศาสตร์ของทุกองค์กรทั้ง 9 ประเด็นให้เชื่อมโยงและสู่การปฏิบัติ โดยทั้ง 5 องค์กรหลัก ต้องประสานและบูรณาการร่วมกัน ดังนี้
1.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) รับผิดชอบประเด็นปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา 2.สกศ.รับผิดชอบประเด็นการพัฒนาครูทั้งระบบ และการบริหารจัดการกลยุทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ 3.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รับผิดชอบการพัฒนาสถานศึกษาและองค์ความรู้ และการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน 4.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดูแลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ และการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ 5.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดูแลเรื่องการส่งเสริมการมีงานทำ
“ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นำเสนอยุทธศาสตร์ทั้ง 9 ประเด็นภายในวันที่ 19 ต.ค. เพราะการพัฒนาการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องพัฒนาคนของประเทศให้มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและจับมือร่วมกันเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับกลุ่มอื่นๆทั่วโลก” รมว.ศธ.กล่าว
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการศึกษา ตามนโยบาย One PC Tablets per child ของรัฐบาลว่า เดือนนี้ สพฐ.มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว.ประสานมิตร) คัดเลือกห้องเรียนตัวอย่างอย่างน้อย 2 ห้อง ทำวิจัยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างห้องเรียนที่ได้รับแจกแทปเล็ต และไม่ได้รับแจก
ซึ่งจะมีการทำวิจัยใน 5 โรงเรียน คือ ร.ร.สาธิต มศว.ประสานมิตร 1 แห่ง และโรงเรียนในสังกัดสพฐ.อีก 4 แห่ง โดยการวิจัยจะเริ่มที่ช่วงชั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งจะมีการส่งครูและผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ลงไปประจำโรงเรียนที่ทำการวิจัยอย่างน้อยโรงเรียนละ 2 คน .
ที่มาภาพ : http://www.enn.co.th/352-“ศธ.”-ตั้งคณะทำงานรับมือก้าวสู่อาเซียน.html