ไม่ควรแขวนอนาคตประเทศอยู่กับการใช้อำนาจเด็ดขาด!
“..อนาคตประเทศไทยต้องการความหนักแน่นของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการช่วยให้บรรยากาศพื้นที่ของสังคมได้มีส่วนร่วม”
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ “สุริชัย หวันแก้ว” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนาหัวข้อ “ลดความเหลื่อมล้ำ...ทางออกที่ต้องไปให้ถึงของประชาธิปไตยไทย” ในงานประชุมวิชาการครบรอบ 9 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักข่าวอิศรา ถอดความและเรียบเรียงเนื้อหาที่น่าสนใจมานำเสนอคุณผู้อ่าน ดังนี้
“ศ.สุริชัย” กล่าวว่า วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากและสลับซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยภูมิใจที่กลายเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเล
แต่หารู้ไม่ว่า 20 ปี ของการเป็นดารา มีชื่อเสียงด้านการส่งออกอาหารทะเล ด้านอาหาร ทำให้เราลืมไปว่าไม่ได้ดูแลชีวิตคนที่เข้ามาหาปลา จนเกิดปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฏหมาย ปัญหาค้ามนุษย์
ดังนั้นเราควรมองประเทศไทยแบบมีชีวิตร่วมกัน ไม่ใช่มองแบบเครื่องจักรกล แต่ต้องมองว่ามีชีวิตที่ร่วมกัน ไม่ใช่มีชีวิตแบบของใครของมัน และต้องหันหน้ามาคุยกันมากขึ้น
มากกว่านั้น ภายใต้โลกที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง มีการพัฒนาระบบทุนนิยมร่วมกัน มีการแข่งขันกันสูง ภาษาของการร่างแผนพัฒนาประเทส่วนใหญ่จึงมีแต่คำว่า ความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยเองทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้คงไม่ได้
เพราะทุกวันนี้ ทุกคนอยากแข่งขัน อยากหาทุนต่างประเทศ ไม่อย่างนั้นคงอยู่รอดยาก แต่บนโลกที่มีการแข่งขันภายใต้ระบบทุนนิยม เป็นระบบที่สร้างความแตกแยกภายใน
ฉะนั้น สิ่งที่ท้าท้ายประเทศไทยก็คือ เราจะรู้เท่าทันกับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ผลิตขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้อย่างไร รวมทั้งมีความแตกต่างที่เคารพในการแก้ปัญหากันอย่างไร
“ความแตกต่างไม่ได้เป็นอุปสรรคของการอยู่ร่วมกันในการสร้างอนาคต แต่ความแตกต่างมีคุณค่าที่จะทำให้เราชื่นชมที่จะอยู่ด้วยกัน”
“ฉะนั้น การสร้างผืนแผ่นดินให้ร่มเย็น ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ แต่ทำให้คนที่อยู่ในแผ่นดินเดียวกันรู้สึกว่า เคารพในความแตกต่างของกันและกัน ทั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทางชาติพันธุ์”
“รวมทั้งความแตกต่างด้านความคิดความเห็น น่าจะเป็นเงื่อนไขของการที่เราจะรู้สึกอยู่ร่มเย็นร่วมกัน ยกเว้นคนที่จะเอาแต่พวกกู คนที่ถือโอกาสเอาประโยชน์โดยไม่มีกติกา”
“ศ.สุริชัย” เห็นว่า ระบบใหญ่ทุนนิยมไม่ได้สร้างความร่มเย็นเสียทั้งหมด แต่ทุนนิยมทำให้ต้องการขายปลาเป็นที่ 1 ที่ 2 ของโลก แต่ลืมรับผิดชอบชีวิตมนุษย์ในเรือ จึงถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานทาส
“ทุกวันนี้ เรายังไม่ได้ถกร่วมกันเลยว่าจะปฏิรูปอุตสาหกรรมทะเลนอกน่านน้ำอย่างไร ปฏิรูปประมงอย่างไร เรายังไม่มีภาพใหญ่ของการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่มีหัวใจของการอยู่ร่วมกันกับชาวโลกอย่างมีสง่าราศี อย่างมีความหวังอย่างไร”
“ฉะนั้น ผมคิดว่าการสร้างความหวัง ไม่ต้องไปรอให้ใครสร้างให้ใคร ทุกคนต้องร่วมกันสร้าง แต่ผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหลายระดับผู้ใหญ่ ต้องช่วยสร้างพื้นที่ให้คนมีโอกาส ต้องเปิดพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง”
“ชวนให้คนมีบรรยากาศของความไม่ใช้อารมณ์ของการโจมตีกัน บางครั้งอาจต้องเข้าใจว่าคนบางส่วนอาจจะมีความคับแค้นมากจากปัญหา จากระบบบางส่วนที่มองไม่เห็น
เราอาจจะต้องอดทน ยิ่งผู้มีอำนาจมากยิ่งต้องอดทนหนักแน่นมาก เพราะสังคมไทยแก้ปัญหาด้วยอำนาจไม่ได้”
นักวิชาการจุฬาฯ ตั้งคำถามว่า สังคมไทยจะแก้ปัญหาด้วยอำนาจพิเศษสำหรับอนาคตได้ไหม เพราะหลายคนอาจบอกว่า ไปขอให้ศาลเจ้าที่ไหนช่วยได้ก็จะไปขอศาลเจ้า พูดกันตลกๆก็คือขอหวย
“แต่อนาคตประเทศไม่ควรไปแขวนอยู่กับความเลื่อนลอยอย่างนั้น เราควรจะฝากความหวังไม่ใช่ในการใช้อำนาจเด็ดขาด”
“โดยที่เราก็รู้อยู่การใช้อำนาจเด็ดขาดบางครั้งมันมีข้อจำกัดของอำนาจก็คือ ไม่ได้รู้หรือไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความซับซ้อนของคนหลายกลุ่ม”
“เช่น เรื่องค้ามนุษย์ ยังมีเรื่องของความซับซ้อนหลายประการ ดังนั้นต้องเปิดโอกาสให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา”
“อนาคตประเทศไทยต้องการความหนักแน่นของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการช่วยให้บรรยากาศพื้นที่ของสังคมได้มีส่วนร่วม”
ส่วนโจทย์เรื่องปฏิรูปประเทศไทย “ศ.สุริชัย” มองว่า ควรเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องมีส่วนร่วมถกเถียงกันต่อไป เช่น คนที่เคยถูกค้ามนุษย์ ควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปด้วย เพราะโจทย์ปฏิรูปประเทศไทยไม่ควรอยู่ในพื้นที่จำกัดจำเขี่ย
“ความซับซ้อนของสังคมไทย ต้องชวนให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ในสังคมเครื่องกล ไม่ได้อยู่ในสังคมจับเครื่องจักรมาปะทะกัน แต่การเปิดพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วม จะเป็นการสร้างประเทศไทยที่มีความหวังสำหรับทุกส่วน”
“ถ้าผู้นำหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยกันได้ ก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่สิ่งที่ได้ริเริ่มไปบ้างแล้วในช่วงปฏิรูปให้ขับเคลื่อนต่อไป”
“ประเทศไทยยังมีหลายเรื่องที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องมาชี้นิ้วด่ากัน แต่ต้องทำให้เกิดการทำงานร่วมกันหลายๆภาคี เพื่อเป็นพลังเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต”