30 ปี แก้เหลื่อมล้ำเหลว ‘อลงกรณ์' ฉะทุนซื้อนักการเมือง-ขรก.สกัด'ภาษีที่ดิน'
‘ดวงมณี เลาวกุล’ เสนอใช้ ‘ยาแรง’ ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า แก้ความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่มั่นใจจะเกิดรัฐบาลนี้หรือไม่ ด้าน ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ แฉเบื้องหลังสมัยนั่ง รมต. ทุนเข้าพบสกัดภาษีที่ดิน เผยตราบใดทุนยังสนับสนุนพรรคการเมือง เลิกฝันลม ๆ แล้ง ๆ กม.จะคลอดรัฐบาลปกติ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2558 สวนผัก Root Garden ภายใต้การร่วมสร้างสรรค์ของกลุ่มพลิกฟื้นแผ่นดินไทย องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย, มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network Asia, Thailand:SVN) มูลนิธิไชยวนา บ้านนาวิลิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา เรื่อง ‘ยังไงดี ภาษีที่ดิน’ ภาษีที่ดินกับความจริงในการลดความเหลื่อมล้ำ ณ สวนผัก Root Garden ทองหล่อ ซอย 3
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุว่า ไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนพอสมควร โดยสามารถยกระดับจากประเทศด้อยพัฒนาเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ เพราะบางช่วงเวลามีการเติบโตทางเศรษฐกิจดี แต่สิ่งที่ไทยไม่เคยแก้ไขปัญหาได้ คือ ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะที่ดิน พบว่า ประชากรร้อยละ 90 ของประเทศ ถือครองที่ดินไม่ถึงร้อยละ 1 ขณะที่ประชากรอีกร้อยละ 10 ของประเทศ กลับถือครองที่ดินกว่าร้อยละ 90
ทั้งนี้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวว่า เมื่อศึกษารายละเอียดแล้วจะช่วยได้ไม่มาก เพราะคนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มคนรับภาระมากที่สุด ถ้าจะให้เกิดผลต้องผลักดันภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า มุ่งเป้าเก็บภาษีจากคนมีการถือครองที่ดินจำนวนมาก จึงจะลดความเหลื่อมล้ำได้ และยังเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมด้วย เพราะจะช่วยให้มีการคลายที่ดินรกร้างว่างเปล่าออกมา
“รายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีที่ดินจะกลับไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่เข้มแข็งระดับฐานราก คนในพื้นที่จะเกิดการตรวจสอบกันเอง แต่ระบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการเมืองที่ดีด้วย” ดร.อนุสรณ์ กล่าว
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สมัยเป็นรัฐมนตรีมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาห้ามไม่ให้ผลักดันกฎหมายภาษีที่ดิน ทั้งที่ช่วยแก้ไขการผูกขาดได้ แต่กลับกล้าเอ่ยคำนี้กับรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าได้จ่ายเงินสนับสนุนทุกพรรคการเมืองและข้าราชการระดับสูง ทำให้ 30 ปี ที่ผ่านมา ตัวเลขความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย สะท้อนถึงความล้มเหลวทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย จึงฝากความหวังไว้กับการปฏิรูปเท่านั้น
“ผมกล่าวกับกลุ่มทุนก่อนจะให้ออกจากห้องว่า พวกคุณอย่าคิดว่า นักการเมืองซื้อได้ทุกคน ผมรู้ว่าบริษัทของคุณ เจ้านายของคุณ ให้เงินสนับสนุนทุกพรรคการเมือง หากไม่เห็นด้วยกับกฎหมายก็เขียนหนังสือมาเหมือนคนอื่น” สมาชิก สปช. กล่าว และว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนตลอดกลุ่มทุนและนักการเมืองเป็นแฝดอินจันยึดอำนาจทางการเมือง ซึ่งการจะผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินขึ้นอยู่กับอำนาจเหล่านี้ ต่อให้จัดเวทีอีก 1,000 ครั้ง ก็ไม่มีความหมาย หากกฎหมายไม่ผ่านสภาฯ
นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึงโอกาสผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินว่า สามารถเกิดในรัฐบาลนี้ได้ เพราะเป็นช่วงที่รัฏฐาธิปัตย์ดำเนินนโยบายได้ตามความถูกต้อง โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกใจได้ และเชื่อว่า กลุ่มทุนคงเข้ามาคัดค้านน้อยกว่า ทั้งนี้ การผ่าตัดประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านการออกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า จงอย่าหวังจะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้ง ตราบใดกลุ่มทุนยังอยู่
“คนที่มีที่ดินมากที่สุด 10 อันดับแรกของประเทศ ยังสนับสนุนทุนพรรคการเมือง จะหวังได้อย่างไร ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ดังนั้นกฎหมายจะออกมาได้ ต่อเมื่อได้รัฐบาลและสภาฯ ที่ยืนบนความถูกต้อง” สมาชิก สปช. กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาไม่เคยพบตัวเลขยืนยันความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินไทยมีมากน้อยเพียงใด เพราะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือครองที่ดิน เนื่องจากมีกฎหมายบางฉบับคุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า พื้นที่มีโฉนดที่ดินราว 95 ล้านไร่ จาก 130 ล้านไร่ มีผู้ถือครองประมาณ 15.9 ล้านคน หากแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ร้อยละ 20 ของผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด และร้อยละ 20 ของผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุด พบความแตกต่างจำนวนการถือครองที่ดิน 326 เท่า มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ 10 เท่า
“นอกจากนี้ยังพบมีผู้ถือครองที่ดินสูงสุดในประเทศราว 6 แสนไร่ แต่ไม่ทราบว่าใคร พร้อมปฏิเสธข้อมูลรายชื่อผู้ถือครองที่ดิน ซึ่งมีการเปิดเผยในขณะนี้ไม่ได้มาจากการศึกษาวิจัยชิ้นนี้” นักวิชาการ มธ. กล่าว และว่า คนร้อยละ 50 ถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ มีเพียงคนร้อยละ 1 ถือครองที่ดินมากกว่า 50 ไร่ และในกรุงเทพฯ มีคนถือครองที่ดินมากที่สุด 3,000 ไร่ ส่วนน้อยที่สุดนั้นระบุไม่ได้
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อว่า ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน ซึ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่มีวัตถุประสงค์ลดความเหลื่อมล้ำ เพระมีอัตราการเก็บภาษีคงที่ ถ้าจะตอบโจทย์ต้องผลักดันภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ใครมีมากจ่ายมาก ใครมีน้อยจ่ายน้อย ทำให้คนถือครองที่ดินคิดมากขึ้น และจะคลายที่ดินให้แก่คนไม่มีโอกาสเข้าถึง ทั้งนี้ มาตรการทางภาษีอย่างเดียวไม่เพียงพอในการช่วยเหลือคนที่มีฐานะด้อยกว่า จะต้องใช้ธนาคารที่ดิน สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือมาตรการอื่น ๆ ผสมด้วย
“การจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง จึงต้องใช้ยาแรงเรื่องภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ซึ่งหลายคนคาดหวังกับการปฏิรูปครั้งนี้ หากไม่ผ่านในสถานการณ์ปัจจุบันก็อาจยากแล้ว และเมื่อย้อนไปครั้งรัฐประหาร ปี 2549 ก็มีการพูดเช่นนี้ สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มั่นใจว่าจะเกิดในรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ แต่ก็มีความหวังเล็ก ๆ ว่าจะมีคนเห็นประโยชน์ระยะยาวของประเทศและผลักดันเป็นรูปร่างขึ้นมา” นักวิชาการ มธ. กล่าวทิ้งท้าย .