เดินงานช้า-ทำคนผิดลอยนวล! กมธ. การเมือง สปช.จี้ปฏิรูปองค์กรปราบโกง
เปิดแฟ้ม กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. จี้ปฏิรูปปัญหาองค์กรตรวจสอบทุจริต พบ ป.ป.ช. ทำงานล่าช้า ไร้กรอบเวลาที่แน่ชัด เสียโอกาสดำเนินคดีคนโกง ส่วน ป.ป.ท. ขาดอิสระ ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง ไม่มีกฎหมายเป็นของตัวเอง ปชช. ขาดความศรัทธา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในวันที่ 15 มิ.ย. 2558 ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ นัดประชุมเพื่อรับฟังรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปฏิรูปการเมือง วาระปฏิรูปที่ 2 : การเข้าสู่อำนาจ/ระบบพรรคการเมือง
โดยในรายงานดังกล่าว มีเนื้อหาตอนหนึ่ง กล่าวถึงการปฏิรูปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
สำหรับปัญหาของ ป.ป.ช. คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ บัญญัติให้คดีเกี่ยวกับการทุจริตและการประพฤติมิชอบทุกเรื่อง ต้องส่งไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้กระบวนการตรวจสอบการทุจริตค้างที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งหมด ขณะที่บุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. มีจำนวนไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ขาดความเป็นอิสระด้านงบประมาณ นอกจากนี้ที่มาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งมีจำนวนน้อยเกินไป (5 คน) และไม่เชื่อมโยงกับประชาชน
รวมถึงยังไม่สามารถทำงานได้ทันต่อจำนวนคดีทุจริต ซึ่งมีผลต่อความพึงพอใจและศรัทธาของประชาชน การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและไต่สวนใช้ระยะเวลานานและขาดกรอบเวลาที่แน่ชัด การประสานงานกับหน่วยบังคับใช้กฎหมาย การประสานงานข้อมูลคดี ข้อมูลสถิติ ผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกัน ยังไม่มีการบูรณาการและนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เสียโอกาสในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรและกำลังคนเท่าที่ควร จำนวนคนน้อย ทรัพยากรน้อย เมื่อเทียบกับปัญหาจึงส่งผลให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทัน รวมถึงองค์กรและกลไกการตรวจสอบถูกแทรกแซง ข่มขู่คุกคาม และถูกจำกัดทรัพยากรทำให้อ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ และงานล่าช้า
นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมาปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ของเลขาธิการ ป.ป.ช. เช่น การัดการทรัพยากรบุคคล การทำหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งที่หน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คือวินิจฉัย
สำหรับปัญหาของ ป.ป.ท. คือ ขาดความเป็นอิสระเนื่องจากคณะกรรมการ และเลขาธิการถูกคัดเลือกและแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมือง ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ถึง 8 คน และผู้บริหารองค์กรอยู่ภายใต้การกำกับสั่งการให้คุณให้โทษโดยฝ่ายการเมือง
ไม่สามารถทำงานได้ทันต่อจำนวนคดีทุจริต ซึ่งมีผลต่อความพึงพอใจและความศรัทธาของประชาชน การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและไต่สวนใช้ระยะเวลานานและขาดกรอบเวลาที่แน่ชัด
นอกจากนี้สำนักงาน ป.ป.ท. ไม่สนองตอบต่อนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เนื่องจากคณะกรรมการไม่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ แต่ทำตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรและกำลังคนเท่าที่ควร จำนวนคนและทรัพยากรน้อย เมื่อเทียบกับปัญหา จึงส่งผลให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทัน
ขณะเดียวกันอำนาจตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มิได้กำหนดกระบวนการสอบสวนและไต่สวนไว้ ดังนั้นพนักงาน ป.ป.ท. ต้องเทียบเคียงกฎหมายอื่น ทำให้ขาดความคล่องตัวในการทำหน้าที่ อำนาจการดำเนินงานของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และไม่ครอบคลุมภารกิจที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน และไม่เด็ดขาด สามารถยกกฎหมายของตนขึ้นมาอ้างได้