วิกฤตผู้อพยพในยุโรป
ที่ยุโรป สถานการณ์ผู้อพยพในปีนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤต เมื่อไม่กี่วันก่อนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เผยว่ายอดผู้อพยพทางเรือที่เข้ามายุโรปจากแอฟริกาในปีนี้ ณ วันนี้ เกิน 100,000 คนแล้ว นับว่ามากกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน ๆ มา นอกจากนั้นยูเอ็นเอชซีอาร์ยังประเมินว่าในอีกเดือนสองเดือนนี้จะมีการหลั่งไหลเข้ามาอีก
ด้านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจากการข้ามน้ำข้ามทะเลในปีนี้ ณ วันที่ 10 มิ.ย. ขยับเป็น 1,865 รายแล้ว โดยเมื่อปีที่แล้วมีผู้อพยพราว 219,000 คน เข้ามาทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,500 ราย ส่วนเมื่อปี 2556 มีเข้ามาน้อยกว่ามากราว 60,000 คน
ยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุว่าในปีนี้ ผู้อพยพ 54,000 คน ขึ้นฝั่งที่อิตาลี 48,000 คน ขึ้นที่กรีซ 920 คน ขึ้นที่สเปน และ 91 คนที่มอลตา ผู้อพยพมีหลากหลายเชื้อชาติ ส่วนใหญ่มาจากซีเรีย เอริเทรีย โซมาเลีย ลิเบีย อิรัก อัฟกานิสถาน
เมื่อปลายปีที่แล้วอิตาลีระงับปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยที่มีชื่อว่ามาเร นอสตรุม เพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว แทนที่ด้วยปฏิบัติการที่ใช้งบน้อยกว่าร่วมกับปฏิบัติการของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ลาดตระเวนในรัศมี 30 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งอิตาลี แต่ในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มงบให้เท่ากับงบที่อิตาลีเคยใช้ในปฏิบัติการมาเร นอสตรุม ตกราว 4,500 ล้านบาท ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มการลาดตระเวนมากขึ้น ให้มีการปราบปรามเพื่อตัดเครือข่ายการค้ามนุษย์ และทำลายเรือผู้อพยพ ก่อนที่ผู้อพยพจะขึ้นเรือได้
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเส้นทางหลักที่กลุ่มค้ามนุษย์นิยมใช้ในการส่งผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาเข้ามายังยุโรป แต่ฟรอนเท็กซ์ หน่วยงานด้านคนเข้าเมืองของอียูบอกว่าช่วงหลังมีการใช้เส้นทางทะเลอีเจียนที่อยู่ระหว่างกรีซกับตุรกี เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้อพยพไปขึ้นฝั่งตามเกาะของกรีซ และหาทางเข้าไปในประเทศหรือเดินทางต่อไปยังประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน เพื่อต่อไปยังยุโรปเหนือ ส่วนเพื่อนบ้านของกรีซ เช่นบัลแกเรีย มีรายงานว่ามีผู้อพยพชาวซีเรียเข้ามาทางตุรกีเพิ่มมากขึ้น
ขบวนการค้ามนุษย์
ตัวการใหญ่ที่ทำให้การอพยพโยกย้ายถิ่นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือขบวนการค้ามนุษย์ นางทิวส์เดย์ เรอิทาโน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานวิจัยขบวนการค้ามนุษย์ชี้ว่านักค้ามนุษย์ทำงานเป็นขบวนการ มีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศ ราวกับเป็น “บริษัทข้ามชาติ” ด้านนายจิอัมเปาโล มุสเซมิ ที่ได้เดินทางไปกับกลุ่มนักค้ามนุษย์ทั่วโลกเป็นเวลา 2 ปี ก่อนร่วมแต่งหนังสือเรื่อง “คำสารภาพของนักค้ามนุษย์” ประเมินว่าปีหนึ่ง ๆ การค้ามนุษย์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีเงินหมุนเวียนระหว่าง 11,300-22,700 ล้านบาทต่อปี เขายังบอกด้วยว่าพวกนักค้ามนุษย์ฉลาด ไม่ได้หลับหูหลับตาทำงานส่งผู้อพยพขึ้นเรือเพียงอย่างเดียว แต่ศึกษากฎหมายของยุโรป และติดตามนโยบายด้านคนเข้าเมืองของอียู รวมทั้งความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา
สาเหตุหนึ่งที่ตอนนี้มีผู้อพยพมาจากลิเบียมาก เป็นเพราะว่าบ้านเมืองกำลังยุ่งเหยิง มีการสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลที่ประชาคมโลกให้การยอมรับกับรัฐบาลของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) รัฐบาลที่ประชาคมโลกให้การยอมรับไม่ได้คุมพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ บางส่วนตกอยู่ในมือของกลุ่มไอเอสบ้าง กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นบ้าง ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ร่วมมือกับกลุ่มนักค้ามนุษย์ด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของทางการลิเบียจึงแทบจะปล่อยเกียร์ว่างเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์
คุมเข้มการหมุนเวียนของเงิน
หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ สกัดกั้น ปิดกั้นเส้นทางที่นักค้ามนุษย์ใช้ในการลำเลียงผู้อพยพ การค้ามนุษย์ก็ยังไม่หยุด แต่จะทำให้นักค้ามนุษย์ได้กำไรมากขึ้น เพราะจะมีการเปลี่ยนเส้นทาง การเดินทางจะไกลขึ้น นางเรอิทาโนแนะว่าหากยุโรปต้องการจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ ยุโรปจะต้องดูเส้นทางการโอนเงินที่ไม่ปกติ เพราะนั้นคือการฟอกเงิน และสืบหาให้ได้ว่าใครควบคุมการเข้าออกของเงิน
กำหนดโควต้า
วิธีหนึ่งที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอคือกำหนดโควตาให้ภาคีอียู 28 ชาติรับผู้ขอลี้ภัยไปในสัดส่วนเท่า ๆ กัน โดยคำนวณจากจำนวนประชากร ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อัตราการว่างงานและจำนวนผู้ขอลี้ภัยในแต่ละประเทศ ตอนนี้อิตาลีกับกรีซแบกภาระหนักกว่าเพื่อน ขณะที่เยอรมนีเป็นประเทศมีผู้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยเข้าประเทศมากที่สุด ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมามีผู้ยื่นคำร้องถึง 250,000 ราย โดยอียูวางแผนไว้ว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะรับผู้ขอลี้ภัย 40,000 คน จากประเทศซีเรียและเอริเทรียที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยที่แท้จริง
นอกจากผู้อพยพดังกล่าวข้างต้น อียูจะรับผู้ลี้ภัยอีก 20,000 คน เข้ามาในยุโรปตามข้อตกลงในอนุสัญญาเจนีวา เป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามค่ายพักพิงของยูเอ็นเอชซีอาร์ในประเทศนอกภาคีอียู ซึ่งอาจมีชาวโรฮีนจาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามเรื่องการกำหนดโควตาเป็นเพียงข้อเสนอของกรรมาธิการฯ และต้องให้ภาคีส่วนใหญ่เห็นชอบเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะภาคีแต่ละชาติต้องยึดผลประโยชน์ของชาติตนเป็นหลักก่อนเพื่อน ตอนนี้สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์และเดนมาร์ก ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงของอียูด้านการยุติธรรมและกิจการภายใน มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเห็นว่าทั้ง 3 ประเทศอาจนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างว่าจะไม่ร่วมแบกรับภาระจากการกำหนดโควต้าก็ได้
การทำลายเรือผู้อพยพ
ในขณะนี้รัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของอียูต่างเห็นชอบในแผนที่ให้ทำลายเรือผู้อพยพที่กลุ่มนักค้ามนุษย์ในลิเบียใช้ลำเลียงผู้อพยพเข้ามายุโรป ทางฝ่ายที่เสนอเรื่องนี้ เห็นว่าการทำลายเรือเท่ากับทำลายทรัพย์สินของขบวนการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามมีฝ่ายที่แย้งว่าการทำลายเรือคงไม่ได้ผลมากนั้น เพราะเรือมีราคาถูกและสามารถต่อใหม่ได้เรื่อย ๆ นอกจากนั้นคงหยุดยั้งการค้ามนุษย์ไม่ได้ เพราะขบวนการค้ามนุษย์ทำงานอย่างเป็นล่ำเป็นสันและชุมชนหลายแห่งในลิเบียได้ประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์
ข้อเสนอเรื่องการทำลายเรือนี้จะต้องผ่านการเห็นชอบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คาดกันว่ารัสเซียคงวีโต้ข้อเสนอนี้
วิธีการของออสเตรเลีย
นายกรัฐมนตรีโทนี แอบบ็อตต์ ของออสเตรเลีย เคยเสนอให้ผู้นำในยุโรปใช้วิธีของออสเตรเลีย คือสกัดกั้นกลางทะเล ไม่ให้เรือผู้อพยพขึ้นฝั่งได้ หากเรือรบออสเตรเลียพบเรือผู้อพยพ ออสเตรเลียจะลากเรือให้กลับไปยังประเทศที่เรือเดินทางออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ส่งกลับไปอินโดนีเซีย หรือส่งผู้อพยพไปที่ค่ายพักชั่วคราวที่อยู่บนเกาะนอกประเทศออสเตรเลีย แห่งหนึ่งอยู่บนเกาะในประเทศปาปัวนิวกินี อีกแห่งอยู่ที่เกาะในประเทศนาอูรู นักการเมืองในยุโรปหลายคนชอบใจมาตรการของออสเตรเลีย แต่มาตรการนี้ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติวิจารณ์
อย่างไรก็ตามมีฝ่ายที่แย้งว่าวิธีการของออสเตรเลียอาจใช้ไม่ได้กับกรณีในยุโรป เพราะจะไปขัดกับหลักการไม่ส่งผู้อพยพกลับไปยังดินแดนที่พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกทรมาน
ในขณะที่เศรษฐกิจในยุโรปยังไม่ฟื้นตัว คนยุโรปเองตกงานกันมาก รวมทั้งกระแสต่อต้านมุสลิมในยุโรป ทำให้ภาคีอียูยังเห็นไม่ตรงกันว่าจะจัดการแบ่งเบาภาระผู้ลี้ภัยกันอย่างไร หลักการนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การปฏิบัติจริงอาจขัดกับหลักการก็ได้
ขอบคุณภาพจาก ibtimes