"ธีรยุทธ บุญมี" พูดเรื่อง ปชต. รธน. และนายกฯลุงตู่ ผู้ฉุนเฉียว
“..ตราบใดเราแก้ปัญหาหาบแร่ แผงลอง วินมอเตอร์ไซด์ วินรถตู้ โดยการใช้อำนาจพิเศษ มันแก้ไม่ได้ถาวร แต่ควรจะต้องผลักดันให้ท้องถิ่น ชุมชน บุคคลหรือพลเมือง ในที่นั้นๆ เป็นผู้จัดการดูแลแก้ปัญหา”
หลังห่างหายจากการแสดงความคิดเห็นต่อสังคมการเมืองไทยบนเวทีสาธารณะไปพักใหญ่ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์“ธีรยุทธ บุญมี” อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมาอีกครั้ง บนเวทีประชุมวิชาการ ครบรอบ 9 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
อาจารย์ธีรยุทธ ได้รับเกียรติปาฐกถาในหัวข้อ “พลังพลเมือง สร้างสังคมสุขภาวะ”พร้อมกับออกตัวว่า ยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
กระนั้นก็ตาม บทบรรยายหลายช่วงหลายตอน พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ พลังพลเมือง รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านสังคม
ที่สำคัญ อาจารย์ธีรยุทธ ยังพูดถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แบบพอสังเขป ก่อนจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองยุครัฐบาลคสช.ฉบับเต็ม ในอีกไม่นานนี้ !
“ธีรยุทธ” เล่าว่า “.. ปกติไปพูดที่ไหน ผมจะใส่เสื้อกั๊ก แต่ใสเสื้อกั๊กจะพูดเรื่องการเมืองเป็นหลัก แต่วันนี้พูดเรื่องสุขภาพ จึงตั้งใจใส่เสื้อขาวคล้ายเสื้อกาวน์หมอมาใส่ ไม่มีที่พูดเกี่ยวโยงกับการเมือง
สาเหตุหนึ่งก็เพราะ ผมค่อนข้างกลัวลุงตู่ แกดุเป็นบ้า แกบ่น ประมาณปีนึงแล้ว ผมยังไม่ออกมาพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเดี๋ยวแกเรียกไปปรับทัศนคติ”
“ธีรยุทธ” ยังบอกว่า “..สังเกตว่าลุงตู่ทำให้ภาพลักษณ์ทหาร จาก ท.ทหารอดทน จะเปลี่ยนเป็นท.ทหารฉุนเฉียว
คนรุ่นผมถ้ายังจำได้ เรามีการ์ตูนนิสต์คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากคือ คุณลุงประยูร จรรยาวงศ์ ท่านมีคอลัมน์ประจำในไทยรัฐชื่อว่า “สัปดนวันละนิดจิตแจ่มใส” แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนเป็น “ฉุนวันละนิดจิตแจ่มใส” ก็ฝากไปให้กับท่านนายกฯแล้วกันครับ”
สำหรับเรื่องประชาธิปไตย “ธีรยุทธ” ตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยนำไปสู่ความสุขจริงหรือไม่ พาชีวิตเราไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นจริงหรือเปล่า ?
เรื่องนี้ผมคิดว่ามีข้อถกเถียง เพราะมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ส่งผลที่ดีกับประเทศกับโลก ในบางช่วงบางสมัย เช่น ยุคฮิตเลอร์ หรือ มุสโสลินี
ผมค่อนข้างเชื่อว่า ความสุข ความดี ความยุติธรรม กับประชาธิปไตย ไปด้วยกันได้โดยเฉลี่ย ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครอง หรือรูปแบบการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นเพื่อ ตอบสนอง สภาพทางประวัติศาสตร์ของการเมืองของมนุษย์ในแต่ละช่วงๆ
ฉะนั้น ในแต่ละช่วงระบบการเมืองจะต่างกันไปเรื่อยๆ เราอย่าคิดว่าระบบการเมืองอย่างใด อย่างหนึ่งจะแน่นอน ถาวร หรือเป็นคำตอบที่ดีที่สุดตลอดไป
“ธีรยุทธ” ให้ทรรศนะว่า ปัจจุบันโลกเคลื่อนสู่ประชาธิปไตย นั่นหมายถึงความเคารพความคิดความเห็นของคนทั้งหมด เป็นกระแสหลักของโลก เท่าที่เห็นก็ส่งผลดีต่อมนุษย์ ต่อประเทศโดยส่วนรวม
แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่พิมพ์เขียวที่เป็นสากลฉบับเดียวที่ใช้ได้ทั้งหมด แต่เป็นหลักการใหญ่ของระบบการเมืองการปกครองทั้งหมดที่เคารพสิทธิคนส่วนใหญ่
ดังนั้น นี่คือโจทย์ใหญ่ที่คนไทยต้องเข้าใจ เรามีสิทธิค้นหาเหมือนกับคนทั่วโลก ค้นหารูปแบบโครงสร้างอำนาจ ซึ่งเหมาะกับประเทศนั้นๆ
ในเรื่องรัฐธรรมนูญ นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ปัญหาของสังคมไทยแก้ไม่ได้โดยเขียนกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเด็ดขาด
รัฐธรรมนูญเราเขียนกันมาหลายรอบแล้ว 14 ตุลา ปี 2540 เขียนแล้ว ปี2550 ก็เขียนแล้ว มีการแนะนำคำใหม่ เช่น พลเมือง สังคม ชุมชน ฯลฯ เป็นประโยชน์ในระดับหนึ่ง
แต่ต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิต เป็นโครงสร้างทางการเมืองซึ่งเปิดโอกาสให้ วิถีชีวิตของคนทุกคน ประชาชนทุกคน เดินไปตามครรลองที่เป็นประชาธิปไตย แสดงความคิดความเห็น แสดงความรับผิดชอบ เห็นสิ่งไม่ชอบมาพากล เห็นสิ่งไม่ดี ก็แจ้งรัฐ มาถกเถียงมาตรการแก้ปัญหา
“แต่ถ้าตราบใดเราแก้ปัญหาหาบแร่ แผงลอง วินมอเตอร์ไซด์ วินรถตู้ โดยการใช้อำนาจพิเศษ มันแก้ไม่ได้ถาวร แต่ควรจะต้องผลักดันให้ท้องถิ่น ชุมชน บุคคลหรือพลเมือง ในที่นั้นๆ เป็นผู้จัดการดูแลแก้ปัญหา”
“ธีรยุทธ” กล่าวว่า ผมไม่ค่อยสนใจกระบวนการเลือกตั้งต่างๆ แต่ผมสนใจว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีอะไรให้กับประชาชน
ไม่ใช่ให้เป็นเงินเป็นทอง แต่ให้เป็นกระบวนการ เป็นเครื่องมือ ให้การกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นยืนมาดูแลปัญหาของเขา
ง่ายที่สุดคือ อยู่เขตไหน คนในเขตนั้นควรเป็นคนตัดสิน ถ้าแต่ละชุมชนเขามีโอกาสรับผิดชอบ แล้วฝึกให้ทำเป็นวิถีชีวิต
เขาฝากถึงทหารว่า “..สิ่งที่ทหารควรทำคือ ท่านต้องดึงให้ประชาชนมามีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ผลักไสประชาชน ทั้งในแง่ความคิด การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ ถ้าทำเดี่ยวๆ ผมคิดว่า จะควบคุมสถานการณ์ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ปัญหาจะกลับมาอีก
ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิตของคน ก็ต้องเชื่อมั่นคน เคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรี ความสามารถของมนุษย์ เคารพในวัฒนธรรม
ที่สำคัญคือต้องสนับสนุนให้บทบาท ให้อำนาจ ให้การมีส่วนร่วม ให้ทุน ให้ทรัพยากร และต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงกับประชาชน
“คนร่างรัฐธรรมนูญ หรือคนที่จะทำอะไรต่อไปในอนาคต ต้องคิดว่า คุณต้องสนับสนุนชาวบ้าน ชุมชนต่างๆ ให้มีเครื่องมือ มีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการที่คนจะแสดงหน้าที่ในการเป็นพลเมืองที่ดี ในการเป็นชุมชนที่ดี เป็นสังคมที่ดี”
“ถึงที่สุดแล้วต้องผลักให้เป็นการกระทำที่เป็นจริง ซึมเข้าไปในหัวใจคนไทย พลเมืองไทย ซึมเข้าไปในชุมชน จนกระทั่งเรารู้สึกว่าต้องไม่ให้มีใครมาจัดการกับการเมืองเมืองไทยแทนประชาชนอีกต่อไป” อาจารย์ธีรยุทธ สรุปทิ้งท้าย