กมธ.ยกร่างฯ หวังคนไทยมีจิตสำนึกพลเมือง สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม
‘ประชา เตรัตน์’ หนุนคนไทยเสียภาษีทางตรง สร้างตัวชี้วัดความเป็น ‘พลเมือง’ ระบุร่าง รธน.ปี 58 เป็นนวัตกรรมใหม่ เมินเสียงค้านยืนหยัดไม่ตัดคำ หวัง ปชช. 50% มีจิตสำนึกสร้างพลังยิ่งใหญ่ เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม
เร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมวิชาการ ‘ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช.’ ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2558 ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีการเสวนา เรื่อง กระบวนการมีส่วนร่วม หัวใจของการพัฒนานโยบายแบบประชาธิปไตย
นายประชา เตรัตน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นนวัตกรรมสร้างประชาชนให้เป็น ‘พลเมือง’ โดยเป็นความตั้งใจของ กมธ.ยกร่างฯ แม้นักวิชาการหลายคนจะออกมาคัดค้าน อย่างไรก็ตาม ความเป็นพลเมืองนั้นมีวิธีวัดไม่ยาก ขอเพียงประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้พึ่งพาตนเองมากขึ้น มีจิตอาสา/สาธารณะ มีส่วนร่วมในชุมชน ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม และไม่ละเมิดกฎหมาย
ทั้งนี้ สังคมอารยะนิยมวัดความเป็นพลเมืองที่การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีทางตรง ฉะนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงบัญญัติให้การเสียภาษีอากรโดยสุจริตเป็นหนึ่งในหน้าที่พลเมือง เพราะที่ผ่านมาพบว่า คนไทยเสียภาษีทางตรงให้แผ่นดินไม่ถึง 5 ล้านคน และในจำนวนนี้มีข้าราชการเสียภาษีราว 2 ล้านคนเท่านั้น จากจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมดราว 38 ล้านคน หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไทยจะสร้างความเป็นพลเมืองได้อย่างไร
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อว่า หน่วยงานภาครัฐจึงต้องเพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนสร้างความเป็นพลเมืองให้ได้ เมื่อมีจิตสำนึกพลเมืองแล้ว การมีส่วนร่วมต่าง ๆ จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ‘สมัชชาพลเมือง’ ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวทีสำหรับประชาชนสำหรับสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน กำหนดนโยบายท้องถิ่น พร้อมมีกระบวนการตรวจสอบภาคพลเมืองด้วย เพราะองค์กรอิสระในปัจจุบันที่มีหน้าที่ตรวจสอบเอาไม่อยู่ แต่ต้องระมัดระวังผู้มีอิทธิพลใช้กลไกข้างต้นเล่นงานฝ่ายตรงข้าม จึงควรออกแบบให้ดี
ส่วนหลายฝ่ายเรียกร้องให้ตัดคำว่า ‘พลเมือง’ ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ นายประชา ระบุว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังหารืออยู่ แต่ส่วนตัวเห็นควรให้ยืนหยัดคำนี้ไว้ และยืนหยัดให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการ ไม่ใช่องค์กร เพื่อประชาชนจะมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น และหวังให้ประชาชนจะเกิดจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ขอเพียงร้อยละ 50 ก็จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่แล้ว
ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงคุณค่าของพลเมืองในระบบสถานศึกษาว่า กรรมการสถานศึกษาเป็นกลุ่มคนที่ควรฝากความหวังไว้มากที่สุด เพราะมีศักยภาพในการพัฒนาเด็กและสังคมมาก ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปได้ก็อยากผลักดันให้กรรมการสถานศึกษามีบทบาทรับผิดชอบมากขึ้น
“ที่ผ่านมาหากเปรียบเทียบข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายของกระบวนการปฏิรูปการศึกษาและสาธารณสุข ล้วนมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น แม้วิธีการดำเนินงานไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากทำงานเป็นหุ้นส่วนกันก็จะได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์มาก” อดีตปลัด ศธ. กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขของไทยมีความก้าวหน้าเรื่องการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของเครือข่าย ยกตัวอย่าง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีการระดมประชาชนหรือพลเมืองให้เข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณสุขอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
“ทุกครั้งที่สอนหนังสือมักจะนำตัวอย่างนี้แก่นักศึกษา เพื่อชี้ให้เห็นโครงสร้างช่วยทำให้การมีส่วนร่วมเป็นไปได้ ดังนั้น ระบบสาธารณสุขถือเป็นหัวหอกของการเปลี่ยนแปลงสังคม ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่มีส่วนต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะประเทศ และทำให้ทุกคนเป็นความหวังซึ่งกันและกัน” นักวิชาการนิด้า ระบุ .