ไม่ยุบสมศ.! “ยงยุทธ-ณรงค์”แจงสนช. ยกเครื่องประเมินผลการศึกษาใหม่
“ยงยุทธ-ณรงค์” ตบเท้าแจง สนช. ยันไม่ยุบ สมศ. เหตุระบุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ชี้แจ้งให้ สมศ. ทราบแล้ว สั่งยกเครื่องทั้งระบบ ให้ประเมินแบบออนไลน์มากขึ้น รวบรวมสภาพปัญหามาวิเคราะห์ใหม่ คุมเข้มภาคเรียนปี’58 มีกิจกรรมนอกห้อง 10% เท่านั้น
จากกรณีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้พิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยขอให้ตอบในที่ประชุม สนช. โดยถาม 2 ข้อ คือ 1.รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับปรุงหรือยกเลิกสำนักงาน สมศ. หรือไม่ ประการใด 2.เมื่อระบบประเมินเป็นระบบส่งข้อมูลทางออนไลน์ ยังจะมีการจัดจ้างบริษัทประเมินอีกหรือไม่ ประการใด
(อ่านประกอบ : “ครูหยุย”ตั้งกระทู้ถาม“บิ๊กตู่”ให้เลิก สมศ.ชี้สร้างภาระ-ทำการศึกษาไทยตกต่ำ)
ล่าสุด นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายสังคม และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ได้เข้ามาตอบข้อซักถามในที่ประชุม สนช. แทนนายกรัฐมนตรี
นายยงยุทธ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องตอบว่า การยุบเลิก สมศ. นั้น ยังไม่ควรทำในขณะนี้ เพราะมีระบุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ให้ดำเนินการ และเรื่องของการประเมินให้ประเมินโดยหน่วยงานที่เป็นกลาง ยกตัวอย่าง หากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้ประเมินเสียเองจึงอาจผิดหลักการ ในแง่ต้องเอาหน่วยงานเป็นกลางมาประเมิน ดังนั้นแทนที่จะยกเลิก สมศ. ก็จะดำเนินการปรับปรุงการประเมินแทน ทั้งนี้รัฐบาลได้ตระหนักถึงข้อห่วงใยของหลายฝ่ายที่ได้พูดถึง ทั้งภาควิชาการ ประชาสังคม อีกมากมาย เมื่อได้เข้ามารับงานประเมินคุณภาพการศึกษา ก็ได้ศึกษาสถานภาพต่าง ๆ และเป็นห่วงมาก และได้คุยกับทั้งผู้บริหารของ สมศ. เอง คณะกรรมการ ประธานกรรมการเองด้วย ตนมีหน้าเป็นผู้กำกับ จะเข้าไปดำเนินการโดยตรงไม่ได้ แต่จะกำหนดนโยบายไปเท่านั้น
นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า ทราบว่า สมศ. มีตัวชี้วัดมากมาย แต่บางอย่างไม่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมที่น่าเชื่อถือได้ หรือการประเมินที่ไม่ตรงกับเป้าหมายของการเรียนการสอนในห้องเรียน แทนที่ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น หลายฝ่าย เช่น ภาคมหาวิทยาลัย เห็นว่า ยิ่งทำให้ตกต่ำลงเสียอีก นี่อาจบอกได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่ค่อยกลัว เพราะสามารถดำเนินการได้ ยืนอยู่บนขาตัวเองได้ แต่สถานศึกษาระดับโรงเรียน หรืออาชีวศึกษา อาจยังเกร็ง ๆ เลยไม่กล้าออกมามากนัก แต่ที่จริงเราก็รู้ว่า ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่มีความเป็นห่วงในสังคมอย่างมาก ข้อวิจารณ์เหล่านี้ได้รับฟังอยู่
“การทำงาน การประเมินยึดรูปแบบเดิม ไม่ได้ดูตามแนวสังคมที่เปลี่ยนไป อาจเป็นตัวทำให้มีการปรับปรุง ส่วนปรับปรุงแน่ ๆ อย่างที่คุณวัลลภได้พูดเมื่อกี้ คือการปรับปรุงมีลักษณะคล้ายกับเป็นครูที่เข้ามาในห้อง คนไหนทำตัวดีไม่ดีอย่างไร จะให้ไม้เรียว และเพิ่งได้เห็นไม่นานมานี้ บางทียังไม่ได้ให้ไม้เรียว แต่วางไม้เรียวดูก่อนว่าสำรับดีหรือไม่ บางทีเลยไม่ต้องให้ไม้เรียว ถ้าจริงก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก” นายยงยุทธ กล่าว
นายยงยุทธ กล่าวด้วยว่า การประเมินมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ก็ดูว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เวลาประเมินไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยปากกา หรือลงพื้นที่ในทุกสถานศึกษา หรือในทุกกรณี บางกรณีมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นไปได้ต้องพบกัน แต่กรณีทั่วไป การประเมินขั้นพื้นฐานทำได้โดยออนไลน์ จริงอยู่บางแห่งยังไม่สามารถทำได้ แต่ตรงนี้ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยทุกโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์แน่นอน โดยวิธีต่าง ๆ กัน จะเป็นซีดี หรือทัมป์ไดรฟ์ ก็ทำได้ เป็นสิ่งธรรมดา ถ้าออกแบบระบบออนไลน์ดี ๆ มันได้ประโยชน์มาก รวมข้อมูลจากภาคต่าง ๆ จากสถานศึกษาระดับต่าง ๆ ดูแนวโน้ม สถานภาพทางการศึกษาเพื่อมาปรับปรุง หรือแก้ไขตามแนวทางที่เหมาะสม
ส่วน พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีโอกาสทำหน้าที่เป็น รมว.ศึกษาฯ ก็ได้ยินปัญหานี้มาโดยตลอด อย่างที่คุณวัลลภ พูดก่อนเข้ากระทู้ ก็ได้ยินมา การประเมินตรงนี้ สร้างภาระอย่างยิ่งให้กับสถาบัน ครู นักเรียน และบั่นทอนเวลาเรียนของนักเรียน รวมทั้งประเด็นปลีกย่อยอื่น ๆ ก็มีเสียงบ่น เรียกร้องมาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่สามารถจะแก้ไขได้ กระทั่งถึงวันนี้ น่ายินดีที่ สมศ. เอง ได้รับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อชี้แนะจากทั้งรองนายกฯ ฝ่ายสังคม จากทั้งกระทรวงศึกษาฯ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ได้รับการประเมินไป ในส่วนของกระทรวงศึกษาฯ เราได้เสนอข้อคิดเห็น แนวทาง ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประเมิน 3 รอบที่ผ่านมา กำลังเข้ารอบ 4 ในปีหน้า เราได้รับผลกระทบอะไรบ้าง หลัก ๆ ก็อย่างที่ได้ทราบกันแล้ว
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาแรกคือ ตัวบ่งชี้ สมศ. ตั้งขึ้นมาไม่สอดคล้องกับบริบทการศึกษา ปัญหาสองตัวชี้วัดมีจำนวนมากเกินไป สร้างภาระให้ทางโรงเรียน รวมถึงมาตรฐานของผู้ประเมินที่มีปัญหา และปัญหาสุดท้ายคือวิธีการประเมินไม่ตอบสนองผลมาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาได้ นี่คือสามปัญหาหลัก ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สมศ. แล้ว และ สมศ. ก็ยินดีปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้กระทรงศึกษาฯ ได้สั่งการว่าในภาคเรียน 2558 จะต้องควบคุมกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และนอกโรงเรียน ไม่ให้เกินอัตราร้อยละ 10 ของเวลาเรียนใน 1 ปีการศึกษา