มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ชี้60% เด็กต่างชาติไร้การศึกษา เสี่ยงถูกใช้แรงงานผิดกม.
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เผยแรงงานเด็กต่างชาติในมีกว่า 2-4 แสนคน แต่ได้รับการศึกษาเพียง 40 % เท่านั้น อีกกว่า 60 % ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา เสี่ยงจะเป็นแรงงานเด็ก
11 มิถุนายน 2558 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดงานเสวนา เรื่องการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก เนื่องในโอกาสวันยุติแรงงานเด็กโลก (World Day Against Child Labour) ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี พร้อมกับฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง 'มะเหย่นชาน' ที่ผลิตขึ้นโดยเด็กและเยาวชนซึ่งสะท้อนความสำคัญของการศึกษาและปัญหาการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีนางซิมริน ซิงค์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการใช้แรงงานเด็ก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวเปิดงาน
นางสาวกนกวรรณ โมรัษเฐียร หัวหน้ากลุ่มคุ้มครองเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า แรงงานเด็กต่างชาติในประเทศไทยมีประมาณ 200,000-400,000 คน แต่ได้รับการศึกษาเพียง 40 % เท่านั้น อีกกว่า 60 % คือเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ดังนั้นภาครัฐจึงมีนโยบายให้เด็กต่างชาติมีทางเลือก 2 ทาง คือ เข้าศูนย์การเรียนรู้ และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา
ปัจจุบันทั่วประเทศมีศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กต่างชาติ 95 ศูนย์ ในจังหวัดตาก กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ระนอง กรุงเทพฯ พังงา และสมุทรสาคร มีนักเรียน ทั้งหมด 17,161 คน (ข้อมูล วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558)
นางสาวกนกวรรณ กล่าวว่า เรื่องการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับแรงงานเด็ก เราจึงทำให้กับเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงจะเป็นแรงงานเด็ก และตัวแรงงานเด็กที่อยู่ในสถานประกอบการ กลุ่มสุดท้ายคือเยาวชน จัดระบบการพัฒนาการศึกษา พยายามจัดให้เป็นระบบและเรียนตามอัธยาศัยตามใจชอบ ประสานงานกับกลุ่มการศึกษานอกโรงเรียน( กศน.)มาสอน เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และยังการสอนทักษะชีวิต การสอนเพื่อปรับพื้นฐานก่อนเข้าเรียน
ด้าน นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสให้เด็กชาวต่างชาติสามารถเข้าเรียนได้ และมีสิทธิเท่าเทียมกับเด็กไทย นั่นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ในหลายพื้นที่ไม่สามารถรับเด็กต่างชาติได้ เพราะเด็กฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง และพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้มีรายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนสูง จึงจำเป็นต้องจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะสำหรับเด็กต่างชาติ
ขณะที่นางสาวมี หง สา เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network- MWRN) กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ Migrant Children Development Center ที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี 2556 และกลายเป็นที่นิยมของพ่อแม่แรงงานต่างชาติส่งลูกหลานเข้าเรียน มีนักเรียน 345 คน มีครู 7 คน โดยโรงเรียนจะสอนเป็นภาษาพม่า เพื่อให้เด็กที่มีโอกาสได้กลับบ้านสามารถนำความรู้ไปเรียนต่อที่ประเทศพม่าได้
"ถึงแม้ทุกวันนี้นโยบายและกฏหมายของไทยได้อนุญาตให้เด็กต่างเข้าเรียนในโรงเรียนไทยได้ แต่ปัญหาคือเด็กเด็กพูดภาษาไทยไม่ได้จึงเข้าเรียนไม่ได้ จึงต้องเปิดศูนย์การเรียนรู้โดยเฉพาะ"
ส่วนเด็กชายหม่าว งี ทุต ตัวแทนจากศูนย์การเรียนรู้ Migrant Children Development Center (MCDC) จังหวัดสมุทรสาคร ชาวพม่า อายุ 10 ขวบ กล่าวว่า อยากให้เพื่อนที่อยู่ในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เนื่องจากการเรียนสำคัญมาก เมื่อมีความรู้แล้ว อนาคตได้มีโอกาสทำงานที่ดี และสามารถต่อรองค่าแรงได้
พร้อมกันนี้ ในเวทียังมีความเห็นร่วมกัน คือ 1.ให้เด็กทุกคนเข้าศึกษาภาคบังคับอย่างน้อยจนถึงอายุขั้นต่ำของการจ้างงาน โดยมีไม่มีค่าใช้จ่าย 2.คิดค้นแนวทางใหม่เพื่อสร้างหลักประกันว่านโยบายระดับชาติด้านการใช้แรงงานเด็กและการศึกษามีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง 3.จัดทำนโยบายที่สร้างหลักประกันให้การศึกษาคุณภาพและการลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพครู