‘ดร.เดือนเด่น’ แนะแยก รพ.รัฐสังกัดสธ.เป็นนิติบุคคล บริหารจัดการอิสระ
‘ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์’ แนะสร้างสมดุลอภิบาลระบบสุขภาพ นำกลไกตลาดมาใช้ หวังปริมาณ-คุณภาพตอบโจทย์ความต้องการ ระบุต้องแยก รพ.รัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนิติบุคคล บริหารจัดการอิสระ ถ่ายโอนศูนย์อนามัยขนาดเล็กให้ท้องถิ่นดูแล
วันที่ 11 มิถุนายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมวิชาการ ‘ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช.’ เป็นวันที่ 2 ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง ‘สมดุลของการอภิบาลระบบสุขภาพ’ ตอนหนึ่งระบุถึงระบบตลาดสาธารณสุข คือ ผู้ใช้บริการเป็นผู้เลือกบริการ ดังนั้นผู้ให้บริการต้องตอบสนองต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งหากขับเคลื่อนกลไกได้ก็จะได้รับการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องทำให้ผู้ให้บริการเกิดการแข่งขันกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลาย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐในหลายประเทศมักพบปริมาณและคุณภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ยกตัวอย่าง กว่าผู้ใช้บริการผ่าตัดใหญ่ต้องรอเวลาหลายเดือน แต่ในระบบตลาด เมื่อมีบริการไม่เพียงพอ ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น และจะนำเงินที่ได้ไปเพิ่มการบริการให้เข้าถึงคนได้ กลไกตลาดจะช่วยแก้ไขปัญหา หากไม่มีกลไกเหล่านี้ปริมาณและคุณภาพจะเท่าเดิม
“แม้ระบบตลาดจะมีความหลากหลาย มีคุณภาพ แต่ไม่สามารถนำมาใช้กับระบบสาธารณสุขได้ทั้งหมด เพราะทุกอย่างทำไปเพื่อเงิน หากไม่มีเงินก็จะไม่ได้รับการบริการที่ดี คนที่มีเงินเท่านั้นจึงได้รับการบริการแบบทันใจ” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า ถ้าไม่นำเข้ามาใช้เลยก็จะเกิดปัญหา รอรับบริการนาน ไม่มีคุณภาพ ทางออกต้องนำหลักระบบตลาดและบริการสาธารณะมาขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนของ สช.เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับระบบตลาด เพราะผู้ซื้อบริการใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการมากขึ้นตามหลักการตลาด
ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงข้อเสนอต่อการนำระบบตลาดมาใช้ในสาธารณสุขไทยว่า ต้องแยกโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนิติบุคคลที่มีการบริหารจัดการเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข และถ่ายโอนศูนย์อนามัยขนาดเล็กให้อยู่ภายใต้การดูแลของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เพราะท้องถิ่นอาจขาดความพร้อม
นอกจากนี้ต้องมีตัวแทนผู้ใช้บริการในคณะกรรมการเขตสุขภาพ ซึ่งข้อเสนอของคณะทำงานจัดตั้งรูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนของ สช.มีความสอดคล้องกับหลักการข้างต้น โดยมีภาคประชาชน 16 คน ภาครัฐ/หน่วยงานภูมิภาค 13 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 คน และนักวิชาการ/วิชาชีพ 11 คน นั่นหมายถึงให้สัดส่วนภาคประชาชนมากกว่าภาครัฐ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องให้โรงพยาบาลของรัฐเป็นนิติบุคคล เพื่อความโปร่งใส มีบัญชีทางการเงิน หากไม่ทำก็จะตรวจสอบการใช้เงินอย่างคุ้มค่าไม่ได้ อีกทั้งต้องสร้างระบบแรงจูงใจแก่คณะกรรมการเขตสุขภาพ เพื่อการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนปรับโครงสร้างสถานพยาบาลเป็นองค์การมหาชนที่มีคณะกรรมการมาจากประชาชนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หากโรงพยาบาลมีขนาดเล็กให้รวมเป็นกลุ่มได้ .