ครม.ให้“กฤษฎีกา-ไอซีที”ดูข้อเสนอ กมธ.ปฏิรูปสื่อแก้ร่างกม.ดิจิทัล
“ครม.ประยุทธ์” ให้ “กฤษฎีกา-ไอซีที” ดูข้อเสนอแนะ กมธ.การปฏิรูปสื่อสารมวลชน ปรับแก้ “ร่างกฎหมายดิจิทัลฯ” หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร-แทรกแซงความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลกิจการคลื่นความถี่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษากฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
กรณีนี้เนื่องจาก กมธ.การปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมติหลักการและผ่านความเห็นชอบ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อการรอนสิทธิหรือคุกคามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งโครงสร้าง สถานะ และบทบาทอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และความเป็นอิสระขององค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการ
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา เพื่อให้ทราบรายละเอียดบทบัญญัติของร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ เพื่อใช้เป็นข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานของ กมธ.การปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชนฯ รวมทั้งเพื่อกำหนดมาตรการปกป้องคุ้มครงอสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนไม่ให้ถูกริดรอนหรือถูกละเมิด
สิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากข้อเสนอแสนะในการศึกษากฎหมายดิจิทัลฯ คือทำให้ประชาชนคนไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง และทำให้สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนไม่ได้ถูกลิดรอน รวมทั้งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จะได้รับการคุ้มครองจากการปฏิบัติหน้าที่
จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการจัดส่งข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของ กมธ.การปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกอบการพิจารณา ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะแล้วเสร็จ เพื่อให้แก้ไขเนื้อหาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดของคนไทย และประเทศชาติ
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รับข้อเสนอแนะของ กมธ.การปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ พิจารณาว่าสมควรดำเนินการตามข้อเสนอแนะหรือไม่ ประการใด ก่อนให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมผลการดำเนินการ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบภายใน 30 วัน