‘พิชัย สนแจ้ง’ วืดนั่งเก้าอี้ ผอ.สำนักพัฒนาฯ ม.บูรพา เหตุเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี
กฤษฎีกาชี้ ‘พิชัย สนแจ้ง’ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ควบนั่งผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรม ม.บูรพา ไม่ได้ เหตุเป็นตำเเหน่งทางการเมือง ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเผยแพร่บันทึก เรื่อง การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ภายหลังมหาวิทยาลัยบูรพาได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 6600/2749 ลงวันที่ 27 เมษายน 2558 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
นายพิชัย สนแจ้ง ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือเรียกว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรี อยู่ในบังคับบัญชาของรองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 ต่อมามหาวิทยาลัยบูรพาได้สรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา
โดยผลการสรรหาเห็นสมควรแต่งตั้งให้นายพิชัย สนแจ้ง เป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติ วิธีการสรรหา อำนาจและหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของหัวหน้าส่วนงาน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
แต่ตามข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดลักษณะต้องห้ามในข้อ 5 (ข) (4) ว่า ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
แต่โดยที่มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
มหาวิทยาลัยบูรพาจึงขอหารือว่า จะนำบทบัญญัติมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาใช้ยกเว้นข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาในข้อที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร เพื่อจะได้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมให้ถูกต้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาข้อหารือของมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยบูรพา) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว และเห็นว่า
กรณีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีนั้น ข้อ 6[5] และข้อ 7 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีและผู้ช่วยรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและประเมินผลรายงานผลการดำเนินการของผู้ช่วยรัฐมนตรีในระยะเวลาที่ผ่านมาและเสนอแนะมาตรการอันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีหรือของรัฐมนตรี ตลอดจนพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในมิติด้านต่าง ๆ ด้วย
การจะพิจารณาว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) เห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยรวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น
เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีและผู้ช่วยรัฐมนตรีที่กำหนดในข้อ 6[7] และข้อ 7[8] แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี อยู่ในความหมายของคำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วย
ดังนั้น เมื่อนายพิชัย สนแจ้ง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ตามข้อ 5(ข) (4) [11] แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติ วิธีการสรรหา อำนาจและหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของหัวหน้าส่วนงานฯ
สำหรับประเด็นที่หารือว่า จะนำบทบัญญัติมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มายกเว้นข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาในข้อที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) เห็นว่า มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญฯ ก็ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า มิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาเท่านั้น
เมื่อพิจารณาลักษณะการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นไปตามรายชื่อที่ได้มีการประกาศไว้[13] โดยในกรณีของนายพิชัย สนแจ้ง นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการประกาศแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้างต้นแต่อย่างใด
ส่วนกรณีการเป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภานั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เป็นสถานะที่กำหนดให้มีขึ้นตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่จะเป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองได้ จะต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ
ส่วนการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ตำแหน่งทางการเมือง หมายถึง ตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งรับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด การเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงมีความหมายกว้างกว่าการเป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
และเมื่อพิจารณามาตรา 4[14] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และมาตรา 92[15]แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ได้กำหนดผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และมิได้กำหนดให้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงมิได้เป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) เห็นว่า เมื่อนายพิชัย สนแจ้ง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมิได้เป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาใช้บังคับตามมาตรา 41[16] ของรัฐธรรมนูญฯ
"กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญฯ มาใช้ยกเว้นข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาในข้อที่เกี่ยวกับการมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามข้อ 5 (ข) (4)[17] แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติ วิธีการสรรหา อำนาจและหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของหัวหน้าส่วนงานฯ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งให้นายพิชัย สนแจ้ง เป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพาได้" คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุ .
อ่านบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับเต็มที่ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2558&lawPath=c2_0886_2558