ระเบิดเปลี่ยนชีวิต
"ออมจะตั้งใจเรียนให้จบ จะได้พาแม่ออกไปจากที่นี่...ที่นี่มันอันตราย ออมกลัวระเบิดมากเลยแม่ ออมไม่อยากอยู่สามจังหวัดเลย"
เป็นคำพูดน้องออม "อภิสิทธ์ มุ่งหมายธนารักษ์" นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ที่เคยบอกกับแม่ "สิทธิณี นุ่นประดิษฐ์" ก่อนจะโดนระเบิดปลิดชีพในเหตุการณ์บึ้มดับเมืองปัตตานี 24 พฤษภาคม 2557
"แม่...เมื่อไหร่ขาหนูจะงอกใหม่คะ" เป็นคำถามของเด็กน้อยที่พร่ำถามแม่ หลังถูกระเบิดขาขาดในเหตุการณ์เดียวกันกับน้องออม
ขณะที่แพทย์เจ้าของไข้หนูน้อยรายนี้ บอกกับแม่ของเด็ก "นะดา สาวิชัย" ว่า "ตอนนี้ลูกของคุณพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่คุณแม่พร้อมจะรับสภาพของลูกหรือยัง"
ประโยคกระแทกใจเหล่านี้ผ่านการร้อยเรียงตัวอักษร บรรจุอยู่ในหนังสือ "เพราะระเบิด...ชีวิตฉันเปลี่ยน" ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้โครงการ "การสร้างความเข้มแข็งให้กับเหยื่อระเบิดเพื่อผลักดันให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน" โดย "กลุ่มด้วยใจ" ซึ่งเปิดตัวกันไปที่ห้องประชุมพิมมาดา 1-2 โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท อำเภอเมืองปัตตานี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมี พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้สนใจเข้าร่วมงานแน่นห้องประชุม
ในงานมีการเสวนาเรื่อง "เพราะระเบิด ชีวิตจึงเปลี่ยน : เหตุเกิด ณ ชายแดนใต้ - บทเรียนรู้จากเหตุการณ์ เพื่อข้ามผ่านความรุนแรงสู่สันติภาพ" โดยครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรีศตวรรษ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต้องสูญเสียแม่ไป, รอฮีหม๊ะ สิเดะ แม่ผู้สูญเสียลูกชาย และ สิทธิณี นุ่นประดิษฐ์ เสียลูกชายเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีช่วง "เล่าเรื่องจากเรื่องเล่า: เพราะระเบิด ชีวิตจึงเปลี่ยน: เหตุเกิด ณ ชายแดนใต้" โดย อารีด้า อาแวกะจิ นักเขียน, ชูศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียนสารคดี และ มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ดำเนินรายการโดย มนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวสามมิติ
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า ต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน และเหตุการณ์วันที่ 24 พฤษภาคมปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตา สร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน เรื่องเล่าในเหตุการณ์เป็นแค่หนึ่งความทรงจำที่สามารถสร้างบทเรียนให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน
รอฮีหม๊ะ สิเดะ แม่ผู้สูญเสียลูกชาย "มูฮำหมัดอิลฟาน สิเดะ" กล่าวว่า ทุกวันนี้จะเลี่ยงผ่านจุดที่เกิดเหตุจนต้องเสียลูกชาย เพราะรู้สึกไม่ดีถ้าจะผ่านจุดนั้น แต่ไม่โกรธ ไม่แค้น เพราะเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงทดสอบ
"ได้กำลังใจจากเพื่อน ๆ จากครอบครัวมาปลอบใจ ถ้าเรามัวแต่คิดถึง จมปลักกับความเศร้า เราก็จะยิ่งเศร้า เราต้องปรับมาดูแลคนที่มีชีวิต เพราะคนที่เสียคือคนที่อัลลอฮ์รักเขามากกว่า เรายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องดำเนินชีวิตให้ดี"
สิทธิณี นุ่นประดิษฐ์ แม่ของน้องออม "อภิสิทธ์ มุ่งหมายธนารักษ์" กล่าวว่า ชีวิตในวันนี้หลังจากสูญเสียน้องออม รู้สึกหวาดระแวงไปหมด ได้ยินเสียงอะไรก็ระแวง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากเข้าเมือง อยู่ในชนบทดีกว่า ตอนนี้ยังมีลูกอีกคนที่ต้องดูแลและเป็นกำลังใจที่ดี ชีวิตประจำวันจะไม่ทำตัวให้ว่าง จะหางานและทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คิดถึงลูก เพื่อนบ้านก็ให้กำลังใจให้เข้มแข็งและเดินหน้าต่อไป
ว่าที่ร้อยตรีศตวรรษ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ ลูกชายที่แม่เสียชีวิตและต้องดูแลน้อง 2 คนที่กำลังเรียนระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก เพราะไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ อยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจที่ด่านทุกวันอย่างเข้มงวด ไม่ใช่ตรวจเข้มเพียงวันที่นายมา
พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ความรุนแรงไม่ได้สร้างความเสียหายแค่วันเดียว แต่สร้างความสูญเสียต่อการพัฒนา เจ้าหน้าที่ได้ร่วมแรงร่วมใจที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน แต่ยังขาดการร่วมแรงร่วมใจจากหลายๆ ฝ่าย และหนังสือเล่มนี้บ่งบอกว่าประชาชนเป็นหน่วยสำคัญที่จะช่วยกันแก้ปัญหา
"คำำที่ก้องอยู่ในหัวของเรา...แม่ดูขาหนูสิ เมื่อไหร่ขาหนูจะงอก...เราจะเปลี่ยนแปลงไม่ให้คำพูดนี้เกิดขึ้น เพียงแค่สังเกตบริเวณบ้านของท่านว่ามีอะไรผิดปกติและแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบ การเป็นหูเป็นตาจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะมอบให้กับลูกหลานของเรา สร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน"
"ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักจะสับเปลี่ยนทุกๆ 1-2 ปี แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่จะอยู่เป็นประจำ บางคนมีพี่น้องอยู่ที่นี่ ที่ผ่านมาเราอาจมีจุดยืนที่ต่างกัน แต่ตอนนี้เรามีจุดยืนร่วมกันแล้วที่จะต้องมาร่วมกันดูแล จุดที่ยืนอยู่ ณ ที่นี้คือการดูแลพี่น้องประชาชน นโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) คือลดระดับ (down size) ความขัดแย้งและความรุนแรงลงมา การใช้กำลังทหาร ใช้กฎหมายพิเศษลดลง การปิดล้อมตรวจค้นแทบไม่มี เหลือแต่การติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับการใช้เครื่องมือทางนิติวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำ ใช้กฎหมายด้วยความรอบคอบผ่านผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำชุมชนด้วยสันติวิธี"
"คาดว่าระดับความรุนแรงจะลดลง เจ้าหน้าที่เข้าไปพัฒนาทุกชุมชน ร่วมทุกข์สุข กิน นอน เพื่อลดความหวาดระแวง สร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน นำงบประมาณลงไปตามความต้องการของประชาชนจริงๆ 3 พันกว่าล้านบาท และ 37 อำเภอมาใช้งานการเมืองนำการทหาร และร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่เรารักด้วยกัน"
อารีด้า อาแวกะจิ ผู้เขียนหนังสือ "เพราะระเบิด ชีวิตฉันเปลี่ยน" บอกว่า การเก็บข้อมูลทั้ง 27 เรื่อง มีทีมที่ลงพื้นที่ทั้งหมด 6 คน ทั้งสัมภาษณ์และตั้งคำถาม ตัวเองจะเป็นคนเรียบเรียง พบว่าแต่ละคน แต่ละกรณีมีพล็อตเรื่องที่คล้ายกัน เช่น ก่อนเกิดเหตุการณ์ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ จะทำอย่างไรได้ในเมื่อพระเจ้ากำหนดไว้แล้ว หรือคนที่กำลังอยู่ในเซเว่นฯ (ร้านสะดวกซื้อ) มีชุดประสบการณ์เดียวกัน วิถีชีวิตในร้านสี่เหลี่ยมที่คิดว่าไม่มีอะไร แต่ก็มี
ซุกกรียะห์ บาเหะ หนึ่งในผู้เขียนบางตอนของหนังสือเล่มนี้ กล่าวว่า เรื่องราวในพื้นที่ต้องการการสื่อสารอีกมาก โจทย์หลักในการบันทึกเรื่องเล่า คือการทำให้งานเขียนทุกชิ้นสื่อถึงพลังของผู้ผ่านเหตุการณ์ นาทีที่ต้องประคับประคองชีวิตและครอบครัวเพื่อให้ดำเนินต่อไป นี่คือความท้าทายในฐานะผู้รวบรวมเรื่องเล่าที่ต้องดึงความฝันและความหวังของผู้ประสบเหตุการณ์ระเบิดเรียบเรียงเป็นภาษาที่แฝงการดำเนินต่อไปของชีวิตที่เหลืออยู่
มัทนี จือนารา ผู้เขียนอีกคน บอกว่า ความสูญเสียที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมายนี้ ดูเหมือนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการดูแลความปลอดภัยหรือการป้องกันเหตุระเบิด ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรงได้สะท้อนเสียงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็หวังให้กลุ่มติดอาวุธทุกฝ่ายได้ยินเสียงนี้ เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงความสูญเสียจากการกระทำที่ไม่ชอบธรรมต่อผู้บริสุทธิ์ทั้งพุทธและมุสลิม ตอบคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคือทางออกหรือไม่ และทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกันว่าเราจะก้าวพ้นวงจรแห่งความรุนแรงเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร
ชูศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียนสารคดี กล่าวว่า หนังสือคือวรรณกรรมที่มีพลัง ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่หรูหรา แต่เขียนแล้วสามารถทิ่มแทงความรู้สึกคนอื่นได้ เช่น "ถ้ามีเสียงฟ้าผ่า ก็จะกรีดร้องทุกครั้ง" อันนี้คือพลังของถ้อยคำ หรือตัวหนังสือทุกคำจะทำให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง
"หนังสืออาจไม่ได้ช่วยเหลือโดยตรง แต่ช่วยเหลือคนอื่น ทำให้หนังสือมีชีวิต และมีลมหายใจ ทุกคนเริ่มต้นที่นี่ เริ่มเติบโต ความหวัง ความฝัน การที่น้องออมบอกว่า..ออมจะตั้งใจเรียนให้จบ และจะออกจากที่นี่ ที่นี่อันตรายมาก...เราต้องย้อนคิดว่า เราอยู่ในพื้นที่แบบไหนกัน"
"หรือ...ตอนนี้ลูกพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ไม่รู้ว่าแม่จะรับได้หรือเปล่า...เป็นภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ที่เห็นได้ 2 มิติ คือ มิติความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความทุกข์ และอีกมิติหนึ่งคือความหวัง"
มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า เรื่องเล่าที่มีพลังน่าสนใจและทรงพลัง คือเรื่องเล่าที่สามารถเห็นอกเห็นใจความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนในเขียน คนนอกเป็นคนสนับสนุน อยากเห็นคนไทยพุทธเขียนเรื่องเล่าของตัวเองด้วย และควรมีหลายภาษา เพื่อให้คนต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นี่
"เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันให้มากกว่านี้ เพราะความรุนแรงกลัวพื้นที่เปิด รวมทั้งอยู่กับความเป็นจริงให้ได้และให้มากที่สุด"