ช่องโหว่เพียบ! ร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ส่อเปิดช่องทุนรุกป่านาน 30 ปี
สมาคมอุทยานฯ ชำแหละร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ พบบกพร่องหลายมาตรา ชี้ ม.56 เปิดช่องนายทุนบุกรุกสัมปทานนาน 30 ปี หวั่นทำ กม.ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้แทนกรมอุทยานฯ เผยยังปรับแก้ได้ ยินดีนำข้อเสนอพิจารณาเพิ่มเติม
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2558 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ตีแตก ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ฉบับพิศวง” ณ ห้องประชุม 202 ชั้น 2 ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)อุทยานแห่งชาติ ฉบับปี พ.ศ. 2504 มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานานและไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เป็นอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ทางกองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงปรับแก้ไข โดยการยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มกระบวนการมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 และได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558
นายชลธร ชำนาญคิด ผู้แทนสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวถึงข้อบกพร่องของร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... ว่า มีหลายมาตรา เช่น มาตรา 4 การกำหนดจัดตั้งอุทานแห่งชาติ ซึ่งตามร่างที่แก้ไข ระบุให้อุทยานแห่งชาติมี 3 เขตการจัดการ ได้แก่ เขตหวงห้าม เขตบริการ และเขตผ่อนปรน โดยให้วนอุทยานทั้งพื้นที่ถือเป็นเขตบริการทั้งหมด
ทั้งนี้ เขตบริการจะสามารถให้สัมปทานสร้างที่พัก (โรงแรม รีสอร์ท หรือร้านอาหาร) ส่วนเขตผ่อนปรน สามารถผ่อนผันให้บุคคลหรือชุมชนดั้งเดิมอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ แม้แต่ชุมชนติดเขตก็เปิดโอกาสให้เช่นกัน
“การเปิดโอกาสกำหนดให้มีเขตผ่อนปรน อาจก่อให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการในเรื่องคนและสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้น ควรกำหนดเป็นเขตกิจกรรมพิเศษที่มีการบริหารจัดการที่ดีแทนมากกว่า” ผู้แทนสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีมาตรา 8 อำนาจหน้าที่อธิบดีกรมป่าไม้ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และ กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ให้กลายเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมอุทยานฯ นายชลธร กล่าวว่า ในทางปฏิบัติจะมีปัญหา เพราะการตัดไม้ ทำไม้ หรือกระทำการใด ๆ ในพื้นที่ป่า หรืออนุญาตให้เอกชนสร้างโรงแรม ที่พัก ตลอดจนมีบุคคลหรือชุมชนกระทำความผิดในการ แผ้วถาง ตัดไม้ ทำไม้ หรือ แปรรูปไม้ จะบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ไม่ได้
ผู้แทนสมาคมอุทยานแห่งชาติ ยังกล่าวถึงมาตรา 15 การจัดตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งระบุให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และองค์ประกอบที่เสนอด้วยกรรมการไม่เกิน 21 คน ประกอบด้วย ฝ่ายข้าราชการ 12 คน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 1 คน ฝ่ายปกครองท้องถิ่น 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) แต่งตั้งไม่เกิน 6 คน จะเห็นได้ว่าสัดส่วนและการกระจายอำนาจยังไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
สำหรับมาตรา 24 25 และ 26 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมในรูปแบบกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ จะมีหรือไม่ก็ได้ และได้กำหนดรายละเอียดของอำนาจหน้าที่ไว้ในกฎหมาย แต่เพื่อให้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นรูปธรรม จึงควรกำหนดให้ทุกอุทยานแห่งชาติ ต้องจัดตั้งเป็น คณะกรรมการประจำอุทยานแห่งชาติ ที่มีบทบาท อำนาจหน้าที่ชัดเจน และ เพื่อให้กระชัดและสามารถยืดหยุ่นได้ดีขึ้น
นายชลธร กล่าวต่อว่า มาตรา 27 และ 28 การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติฯ ว่าด้วยการอนุญาตให้บุคคลและชุมชนที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ รวมถึงอยู่นอกอุทยานฯสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ แม้แต่การปลูกพืช พันธุ์ไม้จากต่างประเทศ ไม้พล พืช เกษตรกรรมอื่น ๆ ก็สามารถอนุญาตได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าธรรมชาติให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ยังมีมาตรา 31 และ 32 ว่าด้วยการคุ้มครอง ดูแล รักษาอุทยานแห่งชาติ การกำหนดโทษ ตามมาตรา 31 ซึ่งมี 5 วงเล็บ ที่มีความหนักเบาต่างกัน ก่อให้เกิดความเสียหายต่างกัน ก็ควรที่จะมีบทกำหนดโทษต่างกัน อีกทั้งยังเกิดข้อสับสนจากข้อกำหนดที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นกระทำการใด ๆ ได้ในอุทยานแห่งชาติ เช่น ปลูกต้นไม้ ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชเกษตรกรรม พืชไร่ พันธุ์ไม้ต่างประเทศ เป็นต้น หากกฎหมายระบุให้บุคคลอื่น สามารถดำเนินการได้ อาจทำให้ระบบนิเวศดั้งเดิม และความหลากหลายทางชีวภาพจะสูญเสีย ยากแก่การแก้ไข
ผู้แทนสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ยังมีมาตรา 35 ว่าด้วยเขตหวงห้าม ห้ามให้มีการถ่ายภาพหรือการถ่ายทำสารคดี ซึ่งไม่สมควรห้ามการถ่ายทอดสื่ออันเป็นความรู้ มาตรา 36 ว่าด้วยการควบคุมดูแล (3)สามารถให้บุคคลอื่นเข้ามาให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือที่พักแรมชั่วคราวได้ เช่นเดียวกับ มาตรา 37 เป็นในเขตผ่อนปรน (เขตกิจกรรมพิเศษ) และ มาตรา 38 ระบุให้สัมปทานคราวละไม่เกิน 30 ปี เป็นการเปิดโอกาสให้เข้ามายึดถือและทำธุรกิจได้โดยที่ไม่มีการกำหนดเขตใด ๆ
มาตรา 56 โดยสรุป คือ เมื่อพิจารณาตีความ การจับกุมการกระทำความผิดในกรณีการสร้างที่พัก โรงแรม รีสอร์ทในอุทยานแห่งชาติ เมื่อศาลสั่งให้ทรัพย์สิน รวมถึงที่ดินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ให้สิ่งก่อสร้างนั้นตกเป็นของอุทยานแห่งชาติ ทำให้อุทยานแห่งชาติสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อกฎหมาย เช่น เปิดสัมปทานท่องเที่ยว ให้เช่าพื้นที่ เป็นต้น
“กรณีนี้ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในอนาคตไม่ศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นช่องทางให้มีการลักลอบบุกรุกเพื่อสร้างที่พักได้ เมื่อถูกดำเนินคดี กว่าคดีจะสิ้นสุดก็ใช้เวลานาน เมื่อผลออกมาเป็นของอุทยานฯ ก็สามารถกลับเข้ามาขอสัมปทาน เพื่อดำเนินกิจการต่อในมาตรา 38 ได้” นายชลธร กล่าวทิ้งท้าย .
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือ นางสาวรุจิรา พรหมเมือง ผู้แทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ชี้แจงหลังรับฟังข้อเสนอแนะ และยืนยันจะนำเข้าที่ประชุมเพื่อนำไปพิจารณาเพิ่มเติม เพราะร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับนี้กำลังอยู่ในกระบวนการปรับแก้ ยังคงเป็นเพียงแนวคิดที่ยังไม่มีข้อยุติ เพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในอนาคต .