ดร.จรัญ มะลูลีม ชี้ปัญหาโรฮีนจาทำอาเซียนตกอยู่ภาวะ "เขาควาย"
“เมียนมาร์ให้การสนับสนุนการรังแกชาวโรฮีนจา และที่น่าสนใจคือไม่มีใครคัดค้าน อองซาน ซูจี ที่เป็นผู้นำทางฝ่ายค้านก็ทำตัว เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะห่วงเสียงที่เธอจะได้ในตอนหลัง”
9 มิถุนายน 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมภาษณ์พิเศษ ในหัวข้อ "โรฮีนจา ชะตากรรม บททดสอบของ อาเซียน และทางออกของปัญหา" โดยมีศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม หัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศและการฑูต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยาย
ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่สร้างความพลิกผันกับชาวโรฮีนจาและทำให้ไม่ได้รับการถูกยอมรับ รวมทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวยังสร้างความรู้สึกฝังใจให้เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจา นั่นคือช่วงที่ชาวเมียนมาร์ทำสงคราม 3 ครั้ง กับอังกฤษ เป็นสงครามที่ยาวนานมาก ในแต่ละครั้งที่มีสงครามกับเมียนมาร์ อังกฤษก็จะนำชาวอินเดียเข้ามาร่วมทำสงครามด้วยเสมอ ดังนั้นคนที่เป็นชาวโรฮีนจาจึงไปเข้าร่วมกับอังกฤษด้วย
"เหตุการณ์รุนแรงเริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อการเข้ามาของนายพลเนวิน ในปี 2506 ซึ่งเป็นคนที่มีชาตินิยมสูง สั่งห้ามไม่ให้ชาวโรฮีนจามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางสังคมและการ เมือง นับได้ว่า เป็นครั้งที่ชาวโรฮีนจาต้องพบเจอกับความยากลำบาก และในสมัยนายพลเนวิน มีการดำเนินการเพื่อล้างเผ่าพันธุ์ เช่น การรณรงค์ นากามิน เมื่อปี 2521 มีการจับชาวมุสลิมผู้หญิงไปข่มขืน และที่อยู่อาศัยของชาวโรฮีนจาถูกทำลาย ด้วยเหตุผลนี้ชาวโรฮีนจาจึงต้องหลบหนีความรุนแรงไปอยู่บังคลาเทศ
ดร.จรัญ กล่าวอีกว่า ความขัดแย้งเกิดการระเบิดใหม่อีกครั้ง ในปี 2555 เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงกับสตรีชาวรัฐยะไข่ และมีชาวมุสลิมถูกข่มขืน มีคนจำนวน 21 คน ต้องเสียชีวิต ถ้าเปรียบการเป็นอยู่ของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเมียนมาร์กับในไทยนั้นต่างกัน โดยประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่จำกัดและดูถูกคนที่ต่างศาสนา อย่างปัญหาในทางภาคใต้ ไม่ใช่เกิดจากความขัดแย้งกันภายในศาสนา ทุกคนยังทำศาสนกิจได้ และยังสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี โดยไม่เกิดผลที่ตามมา
สำหรับสิ่งที่ทั่วโลกสงสัยเป็นอย่างยิ่งในกรณีของ ออง ซาน ซูจี ที่ถูกพูดถึงในฐานะผู้ที่ยืนหยัดในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ แต่ในกรณีของชาวโรฮีนจา ทางด้านออง ซาน ซูจี ออกมาพูดในตอนต้นว่า "เธอไม่รู้จักชาติพันธุ์นี้" ทั้งๆที่ชาวโรฮีนจาได้รับการดูแลอย่างไม่เป็นธรรมในเมียนมาร์ ดร.จรัญ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นางอองซานฯ ต้องพูดแบบนั้น เพราะกำลังมีการเลือกตั้งในปีนี้ โดยมีการคาดกันว่าพรรคของนางอองซานฯ จะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น
"แต่การที่ ออง ซาน ซูจี จะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้นั้น ต้องมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก นางอองซาน ซูจี มีบุตรที่ไม่ได้ถือสัญชาติเมียนมาร์ การแข่งขันนี้จึงเป็นการแข่งขันเพื่อชัยชนะของพรรค "
นักวิชาการด้านการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า กรณีพระอชิน วีระธู ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในเมียนมาร์ ก็เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญกับ ออง ซาน ซูจี ถ้า ออง ซาน ซูจี อยากได้คะแนนเสียงเธอต้องไม่หวังคะแนนเสียงจากชาวโรฮีนจา เพราะโรฮีนจาไม่มีสิทธิในการลงคะแนน โรฮีนจาจึงถูกขับไล่และตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงไม่น่าแปลกที่นาง ออง ซาน ซุจี เคยให้สัมภาษณ์ว่า หากเธอไปอยู่ข้างใดข้างนึง อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรง หรืออาจก่อให้เกิดการหลั่งเลือดมากขึ้น
"ยิ่งไปกว่านั้นจากคำพูดของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่พูดอย่างไม่รับผิดชอบ ว่า ชาวโรฮีนจาควรไปอยู่ที่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ และให้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศที่พร้อมจะดูแลพวกเขา ดังนั้นถ้าดูสถานะของชาวโรฮีนจาที่ต้องรอนแรมอยู่ท่ามกลางทะเลแบบไร้ความหมาย นอกเหนือจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ สถานะของชาวโรฮีนจา ยังเป็นสถานะของคนที่ไร้รัฐ ถูกสงสัย และชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่มีอคติต่อชาวโรฮีนจา"
ดร. จรัญ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวและบทบาทของชาติต่างๆ เช่น บทบาท ของเมียนมาร์นั้น ดูจะมีความตึงเครียดในสังคม ทั้งในเรื่องของการจัดการชาวโรฮีนจาอย่างไม่เป็นธรรม ประชาชนหญิงชาย พระ หรือปัญญาชนตามสถาบันต่างๆ ก็ร่วมต่อต้านชาวโรฮีนจาให้ออกไปจากรัฐยะไข่ แม้กระทั่งองค์กรของชาวพุทธก็มีการห้ามไม่ให้ทำเรื่องเหล่านี้กับชาวโรฮีนจา คือ ห้ามชาวพุทธไม่ให้สนับสนุนในการให้ที่อยู่อาศัย ห้ามมีการซื้อขายสินค้ากับชาวมุสลิม ห้ามชาวพุทธแต่งงานกับชาวมุสลิม ไม่ให้ซื้อตึก บ้าน ที่ดินให้ชาวมุสลิม ฯลฯ
นอกจากนี้ ดร.จรัญ ยังกล่าวถึงบทบาทของบังคลาเทศว่า ที่ผ่านมามีการยอมรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์ เรื่องช่วยเหลือทางการฉุกเฉิน น้ำ ยารักษาโรค แต่ก็ไม่ยอมรับให้ชาวโรฮีนจามาอยู่ในประเทศ เนื่องจากบังคลาเทศเคยรับเอาชาวโรฮีนจาเอาไว้บ้างแล้ว และเป็นประเทศที่มีความยากจน นอกจากนี้บังคลาเทศมีข้อตกลงกับสหประชาชาติ เรียกร้องให้เมียนมาร์นำตัวกลับไปแต่ก็ไม่สำเร็จ
สำหรับบทบาทของอินโดนีเซีย หัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศและการฑูต คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า อินโดนีเซียเคยช่วยเหลือและได้สร้างบ้านให้กับชาวโรฮีนจาแล้ว แรกๆ ผู้ที่อพยพมาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล และให้ความร่วมมือจากสหประชาชาติและหน่วยงานอื่นๆ อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีคนก่อนได้มีการเขียนจดหมายไปยังเมียนมาร์ เพื่อขอให้ยุติการขับไล่ผู้คนเหล่านี้มา รวมทั้งสภานิติบัญญัติก็ได้เรียกร้องไปเช่นเดียวกัน
ส่วนทางประเทศมาเลเซีย ก็มีการเปิดทางให้ผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังไม่ได้ลงนามว่าด้วยการประชุมเรื่องผู้ลี้ภัย เมื่อปี 1967 กับสหประชาชาติ ดังนั้นสำหรับมาเลเซียช่วงหลังๆ ผู้ลี้ภัยที่เคยรับไว้ ก็ไม่ถูกยอมรับให้ถูกกฎหมาย
บทบาทของสหรัฐอเมริกาที่เคยให้เงินจำนวนหนึ่งช่วยเหลือชาวโรฮีนจาแล้ว และได้กดดันรัฐบาลเมียนมาร์ให้ทำเรื่องโรฮีนจา โดยประกาศแผน 4 ข้อ สำหรับรัฐยะไข่ ให้พิจารณาความเป็นพลเมืองชาวโรฮีนจา และได้รับชาวโรฮีนจาไป 1 พันคน
ทางด้านองค์กรระหว่างประเทศ UNHCR ให้ ความช่วยเหลือในด้านอาหาร น้ำ และยา หาที่พักให้ที่อยู่แก่ผู้อพยพลี้ภัยกับประเทศบังคลาเทศ ออกแผนฟื้นฟู ช่วยเหลือชาวยะไข่ อย่างไรก็ตามในบางช่วงสหประชาชาติได้ออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่งานที่สหประชาชาติจะต้องเข้ามาจัดที่อยู่ให้กับชาวโรฮีนจา
ขณะที่ความเป็นอาเซียน ที่ยึดนโยบายไม่ก้าวก่ายกิจการภายในประเทศของกันและกัน แต่อย่างไรก็ตามอาเซียนก็ได้ติดต่อกับทางเมียนมาร์ในเรื่องมนุษยธรรม เรียกร้องชุมชนระหว่างประเทศให้มีจุดยืนที่มีประสิทธิภาพ แต่อาเซียนก็ไม่สามารถทำให้ชาวฮีนจามีความเป็นคนที่มีพลเมืองได้
ทั้งนี้ดร. จรัญ ได้ยกคำพูดของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในเรื่องที่อาเซียนไม่อาจคาดหมาย ที่อาเซียนจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากว่ารัฐบาลของประเทศหนึ่งกล่าวว่า "ผู้คนเหล่านี้ มิใช่พลเมืองของเรา" ดัง นั้นจึงไม่คิดว่าบทบาทของอาเซียนจะเข้าไปถึงได้ หากตัวของประเทศที่เป็นเจ้าของพลเมืองเองไม่ยอมรับคนของตัวเองแล้ว บทบาทของอาเซียนก็ยากที่จะเข้าถึงได้
“อุปสรรค ในการแก้ไขความขัดแย้งในรัฐเมียนมาร์ รัฐเองให้การสนับสนุนการรังแกชาวโรฮีนจา และที่น่าสนใจคือไม่มีใครคัดค้าน เพราะในตัว อองซาน ซูจี ที่เป็นผู้นำทางฝ่ายค้านก็ทำตัว เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะห่วงเสียงที่เธอจะได้ในตอนหลัง
หากเธอพูดถึงชะตากรรมของคนเหล่านี้ ถ้ามองไปทางอุดมการณ์ชาตินิยม คนเมียนมาร์ส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าชาวโรฮีนจาเป็นส่วนหนึ่งของคนในประเทศของตัวเอง บางส่วนอาเซียนเองก็เคยมองว่า เรื่องของโรฮีนจาเป็นเรื่องภายใน ดังนั้นหากมองจากสิ่งเหล่านี้ พม่าต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปอีกนาน”
อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. มองถึงข้อเสนอจากหลายฝ่ายในการแก้ปัญหาโรฮีนจาจากหลายๆ เวที ล้วนมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ที่จะแก้ปัญหาวิกฤตนี้ได้จริงๆ มีแค่เมียนมาร์เท่านั้น ถ้าหยุดการผลักไสให้เป็นผู้ลี้ภัย ความเดือดร้อนก็จะบรรเทาลง และหากมองโรฮีนจากับอาเซียนในแง่การมีเชื้อชาติจจะเห็นว่า ชาวโรฮีนจาไม่มีความเป็นพลเมือง จึงต้องทนทุกข์กลายเป็นเหยื่อของสังคม
"อาเซียนต้องการที่จะเป็นประชาคมเดียวกัน แต่ถ้าอาเซียนไม่ให้ความสำคัญด้านมนุษยชนอย่างจริงจัง อาเซียนก็จะได้รับการวิพาก์วิจารณ์อย่างมาก" ดร.จรัญ กล่าวทิ้งท้าย และว่า บทบาทของอาเซียนนั้น คือการยืนยันถึงการมีภาพลักษณ์ที่ดีร่วมกัน โดยเฉพาะบทบาทของอาเซียนพูดถึงความเคารพต่อเสรีภาพพื้นฐาน การส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน แม้ว่าอาเซียนจะยึดมั่นการไม่แทรกแซงกิจการภายในก็ตาม แต่ปัญหาของชาวโรฮีนจาจะส่งผลกระทบต่ออาเซียนในวงกว้าง ดังนั้นการร่วมมือการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจา จึงเป็นปัญหาร่วมกันของอาเซียน ต้องหาทางออกให้กับชาวโรฮีนจาในระยะยาว อาเซียนในตอนนี้อยู่ในภาวะเขาควาย