ฉลุย! สปช.ผ่านรายงานศึกษาธนาคารที่ดิน
สปช.มีมติผ่านรายงานศึกษาธนาคารที่ดิน-ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน แก้ปัญหา ปชช.ไม่มีที่ดินทำกินอยู่อาศัย ‘ไพสิฐ ลี้อาธรรม’ ค้านตั้งรูปแบบธนาคาร เสนอกองทุนแทน ด้าน กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ พร้อมนำทุกข้อเสนอเเนะไปปรับปรุง
วันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่รัฐสภา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ในวาระระบบเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งเกี่ยวกับรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องธนาคารที่ดินและร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารที่ดิน พ.ศ. ...
ที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นรูปเเบบการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย สมาชิก สปช. กล่าวว่า ทุกคนเห็นด้วยในหลักการจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน แต่เริ่มไม่มั่นใจในรายละเอียดวิธีการดำเนินงานลักษณะใดจะดีที่สุด เพราะเมื่อวิเคราะห์พบสาเหตุทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เกิดจากการด้อยขีดความสามารถในการประกอบการเชิงธุรกิจเกษตร ฉะนั้นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกสมัยช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เงินทุน หรือวัตถุดิบ แต่หากไม่เพิ่มขีดความสามารถหรือเรียนรู้เปลี่ยนทักษะการประกอบการเชิงธุรกิจ ตั้งแต่การควบคุมการผลิต จะไม่มีนักธุรกิจคนใดอยู่รอดได้
“การตั้งธนาคารที่ดินไม่ช่วยแก้ปัญหาที่ดินหลุดมือเกษตรกรตรงจุด ยกเว้นช่วยประคับประคองการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่จะเกิดประโยชน์มากกว่า หากรับฝากที่ดินภาคเอกชนที่กว้านซื้อทิ้งไว้เฉย ๆ มาปล่อยให้เกษตรกรเช่า” ดร.สีลาภรณ์ กล่าว และว่า ธนาคารที่ดินนำเสนอมีรูปแบบเหมือนกองทุนมากกว่า ซึ่งควรแยกให้ชัดเจนระหว่างธนาคารกับกองทุนเพื่อการหาทางแก้ปัญหาที่ดิน
ด้านนายไพสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิก สปช. กล่าวไม่เห็นด้วยกับการตั้งเป็นธนาคารที่ดิน เพราะต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่ควรผลักดันในรูปแบบกองทุนมากกว่า ซึ่งรูปแบบที่มีอยู่ขณะนี้ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สามารถช่วยดูแลปัญหาได้ แต่ไม่ควรตั้งเป็นธนาคารเป็นคู่แข่ง
ทั้งนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับการตั้งธนาคารที่ดินในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ เพราะกังวลว่า อาจประสบปัญหาเหมือนธนาคารรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลพยายามสะสางปฏิรูปอยู่ ที่สำคัญ รัฐวิสาหกิจจะอยู่รอดต้องหาเลี้ยงตัวเองให้ได้ด้วย
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ สปช. กล่าวว่า ปัญหาของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสูญเสียที่ดิน ฉะนั้นธนาคารที่ดินจึงเป็นกลไกหนึ่งเท่านั้นช่วยประคับประคองคนล้มลงให้ฟื้นคืนมาได้ ซึ่งอาจแย้งว่า อนาคตก็จะมีคนล้มต่อไป วิธีเดียวจะแก้ปัญหาได้ คือ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรผ่านโครงการฟื้นฟู เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้
ส่วนจะเป็นรูปแบบกองทุนหรือธนาคาร กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ ระบุว่า ช่วงเริ่มต้นจะดำเนินงานในลักษณะกองทุน เพราะไม่มีสาขา ไม่รับเงินฝาก ตั้งใจจะดำเนินการเฉพาะส่วนที่รัฐบาลกู้มาให้ใช้ในการจัดสรรแก่ประชาชนยากลำบาก เมื่อภารกิจดีขึ้นในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าย่อมมีหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การสะสมที่ดิน การจัดการที่ดินรกร้าง จึงต้องตั้งเป็นธนาคาร ซึ่งมีข้อดี คือ มีกระทรวงการคลังกำกับดูแลชัดเจน พร้อมด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะธนาคารจะยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี
นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวถึงสาเหตุจัดตั้งธนาคารที่ดินในรูปแบบรัฐวิสาหกิจว่า องค์กรจะเจริญรุ่งเรืองได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเต็มร้อย เพื่อให้รัฐบาลรู้สึกว่า เงินที่ไหลเข้ามาเป็นของราชการ ดังนั้นองค์กรแห่งนี้จึงไม่ควรจัดตั้งในรูปแบบอื่น ยกเว้นเป็นของรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ ธนาคารที่ดินถือเป็นความหวังของประชาชน เพราะยังมีเกษตรกร 13.5 ล้านคน เสี่ยงสูญเสียที่ดินและคนจนเมือง 9 ล้านคนไม่มีที่ดิน ดังนั้น ธนาคารจึงถือเป็นกลไกใหม่ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ของไทย เเละพร้อมนำทุกข้อเสนอไปปรับปรุง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สปช.มีมติเห็นชอบหลักการรายงานพิจารณาศึกษาเรื่องธนาคารที่ดิน โดยเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย 41 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไม่ลงคะแนน 0 เสียง จากผู้เข้าประชุม 221 คน ซึ่งจะส่งไปยังคณะมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. ... โดยเห็นด้วย 143 เสียง ไม่เห็นด้วย 53 เสียง งดออกเสียง 25 เสียง ไม่ลงคะแนน 0 เสียง ซึ่งจะส่งร่าง พ.ร.บ.พร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิก สปช.ไปให้กมธ.เพื่อประกอบการพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 7 วัน นับจากวันที่มีมติ
ทั้งนี้ สมาชิก สปช.ที่มีความประสงค์ขอยื่นแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพิ่มเติมให้ยื่นต่อประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ ภายใน 3 วัน นับจากวันที่มีมติ .