ผู้ตรวจการฯแนะตั้งซุปเปอร์บอร์ดคณะกรรมการนโยบายคมนาคมแก้วิกฤติจราจรกทม.
ผู้ตรวจการแผ่นดินชงแก้ปัญหาวิกฤตจราจรและระบบขนส่งมวลชน พร้อมเสนอตั้งซุปเปอร์บอร์ดสั่งการแบบรวมศูนย์ยุติปัญหาความไม่เชื่อมโยงเพิ่มความชัดเจนในนโยบาย
เมื่อเร็วๆนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 โดยมีหน่วยงานที่ เกี่ยวกับการจัดจราจรและขนส่งเข้าร่วม อาทิ สำนักการโยธา และสำนักขนส่งและการจราจร (สังกัดกรุงเทพมหานคร) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงปัญหาอุปสรรค พร้อมทั้งหารือและร่วมกันหาทางออก
ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ว่า ปัญหาหลักของสภาวะการจราจรและระบการขนส่งมวลชนนั้นมีหลากหลายมิติมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณการจราจร การบริหารจัดการ การเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อลดปัญหาดังกล่าวประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ พร้อมทั้งเตรียมส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ดังนี้
1.เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการคมนาคมในระดับสูง (Super Board)
จากการประชุมหารือร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการจราจรและขนส่ง พบว่า หน่วยงานมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในการตัดสินใจดำเนินโครงการในระดับนโยบาย เป็นเหตุให้โครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหลายโครงการไม่มีข้อสรุป หรือต้องชะลอการดำเนินโครงการ หรือต้องทำการศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจหลายครั้ง
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการของรัฐต่าง ๆ มีความชัดเจนในเชิงนโยบาย ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานระดับสูง (Super Board)ขึ้นมาพิจารณาชี้ขาดแผนงานและตัดสินใจในเชิงโยบายการคมนาคมของประเทศในเชิงบูรณาการ เพื่อจะได้มีการตัดสินชี้ขาดว่าโครงการของหน่วยใดจะเดินหน้าต่อและยับยั้งโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน รัฐบาลอาจพิจารณาปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. ซึ่งมีโครงสร้างประกอบขึ้นจากหลากหลายหน่วยงานโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อให้เกิดการสั่งการแบบรวมศูนย์ (Single Command) ให้มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำเสนอโครงการต่าง ๆ ต่อที่ประชุมในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่องและแล้วเสร็จได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้
2. จัดตั้งอาสาจราจร เพื่อลดปัญหาเรื่องวินัยการจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปัญหาการจราจรทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ในการกวดขัน ตรวจตรา และจับกุมมาโดยตลอด แต่ยังพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายการจราจรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดตั้งกลุ่มอาสาจราจรขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยกันสอดส่องดูแล และรายงานพฤติกรรมการขับขี่ยวดยานที่ไม่เหมาะสม หรือฝ่าฝืนกฎหมายจราจรด้วยเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วจะช่วยลดภาระและลดการทำความผิดได้
3. ควรควบคุมอัตราค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง เสนอให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาสำรวจ กำหนด และควบคุมอัตราค่าโดยสารของรถจักรยานยนต์รับจ้างให้เป็นมาตรฐาน เหมาะสม เป็นธรรม และเสมอกันในแต่ละจุดบริการ(วิน) ตลอดจนควบคุมการเรียกเก็บค่าโดยสารของผู้ขับขี่อย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ เพราะปัจจุบันอัตราค่าโดยสารของรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นไปตามฝ่ายของผู้ขับขี่กำหนดจึงเกิดปัญหาข้อร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่ามีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่แพงมากกว่าปกติโดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วนหรือในช่วงเวลาที่มีความต้องการเดินทางสูง เช่น ช่วงก่อนวันหยุดต่อเนื่อง
4.เร่งสำรวจและพัฒนาเส้นทางการบริหารจัดการจราจรและการเดินรถ
เสนอให้กรุงเทพมหานครเร่งทำการสำรวจและหาทางเชื่อมต่อถนนซอย เส้นทางลัดตามซอยต่าง ๆ เพิ่มเติม หรืออาจพิจารณาถึงการเวนคืนพื้นที่บางส่วนตามความจำเป็นเพื่อใช้ในการพัฒนาซอยบางสายที่มีศักยภาพในการเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดเพิ่มเติม ผลดีคือช่วยย่นระยะเดินทางแล้วยังช่วยแก้ปัญหารถติด ลดปริมาณรถยนต์บนถนนสายหลัก ปัญหาการจราจรจะบรรเทาลงได้ในระดับหนึ่ง พร้อมเร่งรัดทำการประชาสัมพันธ์แจกจ่ายคู่มือและแผนที่การใช้เส้นทางลัดพร้อมแผนที่ในรูปแบบต่าง ๆ ให้ประชาชนผู้ใช้รถได้รับทราบเส้นทางลัดอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกด้วยการติดตั้งป้ายบอกทางในแต่ละเส้นทาง
5.สำรวจเส้นทางการเดินเรือโดยสารในคลองเพิ่มเติมเสนอให้กรมเจ้าท่าพิจารณาศึกษาคลองสายใหญ่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่มีศักยภาพในการเดินเรือโดยสารเพิ่มเติม อาทิ คลองผดุงกรุงเกษมให้สอดคล้องกับโครงการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางน้ำและทางบกที่กรมเจ้าท่ากำลังจะเริ่มทดลองดำเนินการ เนื่องจากการเดินเรือในปัจจุบันได้รับความนิยมจากประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการสัญจรแบบเชื่อมต่อลักษณะการเดินทาง แต่ยังจำกัดอยู่เพียงสองเส้นทางหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ
"ปัจจุบันได้มีหลายหน่วยงานทำตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้เสนอไว้ เช่น กรมการขนส่งทางบกได้ให้ผู้ขับขี่รถยนต์ประเภทรถยนต์บางประเภทยื่นคำขอรับความเห็นชอบพร้อมแสดงพื้นที่จอดรถต่อสำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ เพื่อให้ได้รับอนุญาตก่อนจึงสามารถจดทะเบียนรถยนต์ได้"
ศ.ศรีราชา กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการจราจรและการเดินรถบนถนนสายหลักของกรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ทางขาเข้า (ช่วงทางแยกต่างระดับทับช้าง) ซึ่งมีบริเวณแคบเป็นคอขวดได้ปรับแก้ไขขยายเส้นทางให้กว้างขึ้นและมีช่องทางพักรถด้วย รวมถึงกรุงเทพมหานครที่พยายามเร่งพัฒนาเส้นทางลัดเชื่อมต่อตรอกซอย ทุกวันนี้ปัญหาการจราจรกลายเป็นปัญหาระดับชาติของคนเมืองและไม่เมืองไปแล้ว
"การจะแก้ปัญหาวิกฤติเรื้อรังนี้ให้หมดไปต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ต้องเร่งสร้างวินัยให้ตัวเองมากขึ้น การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานเพื่อให้ดำเนินโครงการและมาตรการต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องนั้น การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการคมนาคมในระดับสูง (Super Board) หรือการสั่งการแบบรวมศูนย์จึงสำคัญยิ่ง"