ละหมาดขอพรรอมฎอนสันติ - กอ.รมน.เปิดทางผู้ต้องหาคดีมั่นคงกลับบ้าน
ใกล้เข้าสู่เดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายประการ ทั้งจากนักการศาสนา และฝ่ายความมั่นคง
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยสภาอูลามา สมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดภาคใต้ มัรกัสนูรอัลอิสลาม และชมรมมุสลิมภราดรภาพ ได้ร่วมแถลงข่าวเชิญชวนพี่น้องมุสลิมร่วมละหมาดฮายัตขอพรจากพระเจ้า (อัลลอฮฺ ซ.บ.) ให้พื้นที่เกิดความสงบสุข ไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรง สามารถปฏิบัติภารกิจในเดือนสำคัญอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ วันที่จะร่วมละหมาดฮายัตพร้อม คือวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เวลา 09.00 น. ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี โดยจะมีผู้นำศาสนาและประชาชนร่วมพิธีละหมาดกว่า 15,000 คน มาจาก จ.ปัตตานี 8,000 คน จ.ยะลา 3,000 คน จ.นราธิวาส 3,000คน และ จ.สงขลา 1,000 คน
โดยนอกจากร่วมละหมาดฮายัตแล้ว คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังจะขอให้มุสลิมทุกคนร่วมกันถือศีลอดด้วยความศรัทธาตลอดเดือนรอมฎอน ปฏิบัติตามแบบอย่างของศาสดาด้วยการละหมาดในยามค่ำคืน อ่านอัลกุรอาน และปฏิบัติอื่นๆ ตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องร่วมกันดูแลครอบครัวและบุคคลที่ตนรักให้มั่นคงอยู่ในแนวทางของศาสนา ร่วมกัน ลด ละ เลิก สิ่งเสพที่เป็นโทษ ตลอดจนอบายมุขทั้งปวงตลอดทั้งเดือนรอมฎอน
แม่ทัพอวยพรพี่น้องมุสลิมในโอกาสรอมฎอน
พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกท่านที่มีโอกาสเข้าสู่เดือนรอมฎอน เดือนสำคัญในศาสนาอิสลามอีกครั้งหนึ่งในปีนี้
เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานมายังมนุษย์ ผ่านศาสดามูฮัมหมัด เพื่อเป็นทางนำและแบบอย่างการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสันติ เป็นเดือนที่แสดงถึงความภักดี และการตักวา มุ่งมั่นปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา ซึ่งสิ่งสำคัญของการปฏิบัติในเดือนรอมฎอนคือการถือศีลอด งดเว้นการบริโภคอาหารตอนกลางวัน อดทนและอดกลั้น นำไปสู่ความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังให้ผู้ปฏิบัติได้รับทราบถึงความอัตคัด ขัดสนของผู้ยากไร้ และเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความเมตตา เอื้อเฟื้อระหว่างกันและกัน
นอกจากนี้เดือนรอมฎอนยังเป็นเดือนแห่งการปฏิบัติที่ได้รับผลตอบแทนด้วยผลบุญอันมหาศาล นับเป็นเดือนอันประเสริฐที่พี่น้องมุสลิมทั้งหลายต่างเฝ้ารอคอย
"ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกท่าน และขอให้การปฏิบัติในเดือนอันสำคัญนี้เป็นไปอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ได้รับผลตอบแทนด้วยผลบุญตามที่ปรารถนา นำความสันติสุขสู่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน" พลโทปราการ ระบุ
เปิดช่องผู้ต้องหาคดีมั่นคงกลับบ้าน
พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวเนื่องในโอกาสใกล้เข้าสู่เดือนรอมฎอนว่า "โครงการพาคนกลับบ้าน" เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยสันติสุข เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมต่อการพูดคุย
เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2558 ที่ผ่านมา พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีโอกาสพบกับอดีตแนวร่วมกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งปัจจุบันไม่มีพันธะทางกฎหมายใดๆทั้งสิ้น ถูกดำเนินคดีมาเรียบร้อย วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมก็เพื่อต้องการประชาสัมพันธ์แนวคิดที่จะให้ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐที่ยังคงหลบหนีอยู่ 3 กลุ่มได้กลับบ้านช่วงเดือนรอมฎอน
ผู้เห็นต่าง 3 กลุ่มที่ว่านี้ ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่มีหมาย ป.วิ อาญา (หมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ส่วนที่ 2 คือผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หมายเรียกที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) และ 3.กลุ่มที่ไม่มีหมายใดๆ
ในโอกาสเดือนรอมฏอนซึ่งเป็นเดือนอันประเสริฐของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฝ่ายภายใต้การแนะนำขององค์กรศาสนา ต้องการให้พี่น้องทุกคนมีโอกาสกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังคงหลบหนีอยู่ได้มีโอกาสกลับมาประกอบศาสนกิจเนื่องในเดือนรอมฎอน
สำหรับช่องทางในการกลับมา ตอนนี้มี "โครงการพาคนกลับบ้าน" พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามารายงานตัวแสดงตน ทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามขั้นตอน เช่น กรณีผู้ที่มีหมาย ป.วิ อาญา ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาตให้มีการประกันตัว เป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวก
ส่วนผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2555 ขณะนี้สามารถปลดหมาย พ.ร.ก.แล้วกว่า 700 ราย เมื่อปลดหมาย ปัญหาที่เคยเกิด เช่น ไปต่างประเทศไม่ได้ ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ ก็จะหมดไป และขณะนี้มีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ มีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร เพื่อให้ลบชื่อออกจากบัญชี ส่วนผู้ที่ไม่มีหมายก็ไม่มีปัญหา
ในส่วนของกระบวนการตาม "โครงการพาคนกลับบ้าน" จะมีขั้นตอนอยู่ เมื่อเข้ามาแล้วในขั้นตอนแรกทางเจ้าหน้าที่จะอำนวยการตามกรรมวิธีตามกฎหมาย จะมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติตาม "โครงการประชาร่วมใจ ทำความดีเพื่อแผ่นดิน" จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการอบรมอาชีพ เพื่อให้มีทักษณะในการประกอบอาชีพต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา