เคลียร์ใจ! ป.ป.ช.-คตง.นัดถกปมส่งคดีให้แต่ไต่สวนช้า-อ้างกม.คนละฉบับ
นัดเคลียร์ใจ! ป.ป.ช.-คตง. นัดจับเข่าคุยปมส่งคดีให้ แต่ถูกไต่สวนล่าช้า ไม่ยอมตั้งคณะอนุฯไต่สวน เหตุต้องนำมาทำใหม่ มีการอ้างกฎหมายคนละฉบับ ยันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมต่อไป
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในวันที่ 9 มิ.ย. 2558 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ มีการนัดหารือและรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแก้ไขปัญหาในการทำงาน
ทั้งนี้ แหล่งข่าวที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ระบุว่า กรณีที่ผ่านมาสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่บริหารงานโดย คตง. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อสามารถสรุปคดีได้ต้องส่งเรื่องต่อไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไต่สวนชี้มูลความผิด แต่ปัญหาการทำงานที่ คตง. และ ป.ป.ช. ประสบมาตลอดคือ เมื่อ คตง.ส่งเรื่องมาให้ป.ป.ช. แล้ว คดีนั้น ๆ เกิดหยุดชะงัก เนื่องจาก ป.ป.ช. ต้องมาเริ่มไต่สวนใหม่ตั้งแต่ต้น ทำให้คดีไม่เดิน โดยบางครั้งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะถือกฎหมายกันคนละฉบับ ทำให้การพิจารณาแต่ละคดีล่าช้าไปมาก
“ดังนั้นจากที่มีปัญหาสะสมมานานจึงมีการนัดหารือและรับประทานอาหารร่วมกัน ระหว่างคตง.และป.ป.ช. พูดคุยหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันต่อไป” แหล่งข่าว ระบุ
ด้านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ คตง. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ได้มีการนัดพบปะหารือกันจริง โดยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง.นำคณะกรรมการ คตง.ทั้ง 7 คน รวมทั้งผู้บริหาร สตง.บางส่วนไปร่วมหารือด้วย ทั้งนี้ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีหลายคดีที่ สตง. สรุปเรื่องที่ตรวจสอบพบว่าน่าเชื่อว่ามีมูลส่อว่าทุจริตแล้วส่งไปให้ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2554) บอกว่าก็ต้องยึดความชัดเจนตามกฎหมาย ป.ป.ช. จึงต้องแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการไต่สวนทันทีได้จึงทำให้เกิดความล่าช้าในคดี
นายวิทยา กล่าวอีกว่า การนัดหารือดังกล่าวจะเป็นการหาแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพในการปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบมากขึ้น สอดคล้องประสานกันได้ ทำคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของใครของมัน และอนาคตอาจจะมีการร่วมกันทำบันทึกความเข้าใจ (MOU )การทำงานร่วมกันระหว่าง คตง.-ป.ป.ช. โดยมีเป้าหมายว่า เมื่อต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงานให้ได้
“เช่น เมื่อสตง.ตรวจสอบข้อมูลได้แล้วสรุปส่งป.ป.ช.ก็สามารถไต่สวนต่อได้ทันที เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในนโยบายปราบปรามการทุจริตอีกด้วย หรือแม้แต่อนาคตเป็นไปได้หรือไม่ว่า สตง. จะสามารถทำสำนวนส่งตรงไปยังอัยการได้โดยไม่ต้องส่ง ป.ป.ช. เพื่อความรวดเร็วในการปราบปรามการทุจริต” นายวิทยา กล่าว