การเมืองเรื่องน้ำ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ปีนี้น้ำท่วมหนักจริงๆ ขณะที่นั่งเขียนคอลัมน์อยู่นี้ หลายจังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างยังคงวิกฤติ กรุงเทพฯยังลูกผีลูกคน ส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังเบาใจไม่ได้ เพราะฝนฟ้ามักจะมาช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นศักราช
ปีที่แล้วจำได้ว่าต้นเดือนพฤศจิกาฯ เป็นห้วงเวลาแห่งพิบัติภัย โดยเฉพาะที่อำเภอริมทะเลของปัตตานี...
สำหรับปีนี้ได้ฟังข่าวแล้วค่อยใจชื้นขึ้นหน่อย เพราะพ่อเมืองของทั้ง 3 จังหวัดได้เรียกประชุมตระเตรียมแผนและมาตรการรองรับกันตั้งแต่ฝนเพิ่งเริ่มตก ทำให้เชื่อว่าจะสามารถเผชิญสถานการณ์ได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งป่านนี้เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ลืมความโหดร้ายของธรรมชาติในห้วงเวลานั้น
ท่ามกลางกระแสทุกข์ของชาวบ้าน ก็ยังมี “คนการเมือง” บางกลุ่มบางท่านเล่นสงครามน้ำลายรายวันกันไม่เลิกรา ด่ากันไปด่ากันมาโดยหยิบยกประเด็นทุกข์ชาวบ้านนั่นแหละขึ้นมาด่า ดิสเครดิตกันว่าอีกฝ่ายไม่ออกไปช่วยประชาชนคนเดือดร้อน โดยที่คนด่าก็ยังมัวเสียเวลานั่งแถลงข่าว ไม่ยอมออกไปช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยเหมือนคนที่ถูกด่านั่นแหละ
ช่วงวิกฤติอุทกภัย มีเรื่องหนึ่งที่ผู้คนในส่วนกลางหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน คือ ความเหมาะควรของการ "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" เพื่อรับมือภัยพิบัติ ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นตอบโต้กันทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยพอสมควรทีเดียว
แม้ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาฯ จะชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลไม่ได้พิจารณาเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เสียงจากฝ่ายที่นำเสนอก็ยังคงดังต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายไม่เอา พ.ร.ก. ก็ปลุกผีการใช้อำนาจจากปากกระบอกปืนของทหารขึ้นมาเป็นเหตุผลในการต่อต้านทัดทาน
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า เนื้อหาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีบางช่วงบางตอนพูดถึงมาตรการการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดจากพิบัติภัยขนาดใหญ่อยู่ด้วยเหมือนกัน
ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ต้องการสนับสนุนให้ประกาศหรือไม่ประกาศ แต่อยากบอกว่าการจะพิจารณากฎหมายฉบับหนึ่งว่าดีหรือไม่ดีนั้นมันมีหลายมิติ และจากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา ผมเห็นว่ามิติที่ทำให้กฎหมายมีปัญหามากที่สุดก็คือมิติของการ “บังคับใช้”
จริงๆ แล้วก่อนการถกเถียงเรื่องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรับมือน้ำท่วมในภาคกลางและเหนือตอนล่าง ปรากฏว่าที่ “ใต้ล่าง” หรือ “ชายแดนใต้” เมื่อสัปดาห์แรกของเดือนตุลาฯ ก็มีการรณรงค์ให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กันอย่างคึกคักไม่น้อยเหมือนกัน
การรณรงค์ที่ว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ทำกันมาแล้วหลายครั้ง หลายวาระ แต่ก็ถูกภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงปฏิเสธทุกวาระ โดยอ้างเรื่อง “ความจำเป็น”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 6 ปี (จนหลายคนประชดว่าเป็นสถานการณ์ถาวรแล้ว ไม่ใช่ฉุกเฉิน) มีการต่ออายุขยายเวลากันมาแล้วถึง 25 ครั้ง โดยเลิกการประกาศไปเพียงอำเภอเดียวจาก 33 อำเภอ คือ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
จริงๆ แล้วเรื่องการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนี้ หากพิจารณากันในบริบทปกติที่บ้านเมืองมีความสงบสุขร่มเย็น แน่นอนว่าการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย่อมดี และคงไม่มีใครเถียง ยิ่งไปกว่านั้นผมคิดว่าคงไม่มีรัฐบาลที่ไหนบ้าประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่ไม่มีสถานการณ์อะไรฉุกเฉิน
แต่คำถามเดียวกันจะตอบยากขึ้นมากทีเดียว หากบ้านเมืองหรือพื้นที่ที่ประกาศยังคงมีสถานการณ์ความไม่สงบดำรงอยู่
ในฐานะผู้สื่อข่าว ผมได้มีโอกาสรับฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายที่รณรงค์เรียกร้องให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่ายที่เห็นว่าจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไป ซึ่งผมคิดว่ามีเหตุผลทั้งสองฝ่าย
โดยฝ่ายที่รณรงค์ให้เลิกก็บอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความไม่สงบดีขึ้นแต่อย่างใด ส่วนฝ่ายที่ยืนยันให้ใช้ต่อไปก็บอกว่าในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ กฎหมายอาญาอย่างเดียวเอาไม่อยู่ ต้องมีเครื่องมือพิเศษ และจำเป็นต้องจำกัดสิทธิบางประการของประชาชน เพื่อความปลอดภัยของคนส่วนใหญ่และความมั่นคงของรัฐ
การยืนอยู่คนละมุมและตะโกนเถียงกันด้วยเหตุผลของตนเองอย่างนี้ เถียงกันเท่าไหร่ก็คงไม่มีวันจบ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมเพิ่งได้พบและพูดคุยกับ ท่านชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ดูแลงานภาคใต้ในกรอบของการอำนวยความยุติธรรม ท่านชาญเชาวน์ได้ให้แง่คิดในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
ประการแรก ท่านชาญเชาวน์บอกว่าประเด็นของการถกเถียงไม่ควรเป็น “เลิก-ไม่เลิก” หรือ “ใช้-ไม่ใช้” แต่ควรถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า “ใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด” มากกว่า
เพราะในทัศนะของท่านชาญเชาวน์ เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่ดีฉบับหนึ่ง แต่ไม่ควรใช้กับทุกคดีและทุกคน ในทางกลับกันควรใช้ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หากทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ที่ผ่านมามีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบในหมู่ประชาชน และเกิดกระแสเรียกร้องให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งนับว่าน่าเสียดาย
ประการที่สอง ท่านชาญเชาวน์บอกว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น ควรอ่านกฎหมายให้เข้าใจเสียก่อน และกำหนดรูปแบบการใช้ให้ถูกต้อง ถามว่าใช้อย่างไรจึงจะถูกต้อง ท่านชาญเชาวน์ตอบว่า ต้องใช้เพื่อเสริมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)
เมื่อถามต่อว่าเสริมอย่างไร คำตอบที่ได้ก็คือ เสริมเฉพาะเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้ได้ข้อมูลในทางกว้าง เพราะการใช้ ป.วิอาญา จะได้ข้อมูลจากการสืบสวนสอบสวนเชิงปัจเจก คือได้ข้อมูลเชิงลึกของบุคคลแต่ละคนเพื่อพิสูจน์ความผิดของคนๆ นั้น แต่ไม่ได้เชิงกว้างในลักษณะของการกระทำผิดที่อยู่ในรูป “ขบวนการ”
พูดง่ายๆ ก็คือควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เฉพาะกรณีที่ต้องการสาวให้ถึงตัวการระดับบนของเครือข่ายก่อความไม่สงบ ไม่ใช่ไปกวาดจับผู้ต้องสงสัยมาซักถามหรือควบคุมตัว เพราะการสอบปากคำผู้ต้องสงสัย ป.วิอาญาก็เปิดโอกาสให้ทำได้อยู่แล้วโดยใช้ “หมายเรียก” ไม่จำเป็นต้องออก "หมาย พ.ร.ก." หรือ "หมาย ฉฉ" ซึ่งเปิดโอกาสให้คุมตัวได้นานกว่า “หมายเรียก” ตาม ป.วิอาญา ทั้งๆ ที่เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดแจ้งว่ากระทำความผิด
แต่ถ้าเป็นการเชิญตัวหรือควบคุมตัวมาซักถามเพื่อสาวไปให้ถึงเครือข่ายและแกนนำขบวนการ อย่างนี้ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เป็นการใช้เฉพาะกรณี ไม่ใช่ใช้เป็นการทั่วไป มิฉะนั้นจะกลายเป็น “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ส่งผลให้เกิดทัศนคติแง่ลบจนกลบข้อดีของกฎหมาย
ประการที่สาม ท่านชาญเชาวน์บอกว่า ตัวละครที่เป็นผู้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรเป็นตำรวจกับฝ่ายปกครอง (ไม่ควรเป็นทหาร ประเด็นนี้ผมเติมเข้าไปเอง เพราะถ้าเป็นทหาร ภาพจะเหมือนใช้กฎอัยการศึกซึ่งมีดีกรีแรงกว่า พ.ร.ก.)
ประการที่สี่ ท่านชาญเชาวน์บอกว่า ควรเร่งพัฒนางานด้านการข่าวให้มีประสิทธิภาพโดยเร็ว เพื่อลดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการหาข่าว เพราะถ้าใช้ พ.ร.ก.มาหาข่าว ก็จะเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ดังที่ได้กล่าวแล้ว
เมื่อพัฒนางานด้านการข่าวและประสิทธิภาพในงานสืบสวนสอบสวนเรียบร้อย จึงค่อยพิจารณาเรื่องการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งควรกำหนดเป็นห้วงเวลา (เฟส) ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมดทันที มิฉะนั้นจะเกิดภาวะชะงักงัน เพราะผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเหมือนไม่มีเครื่องมือหรืออำนาจใดๆ รองรับการทำงาน แต่ถ้าทำตามวิธีที่กล่าวมา ผู้ปฏิบัติจะมีความมั่นใจ และทุกฝ่ายก็จะ “วิน-วิน”
ประการสุดท้าย เป็นตลกร้ายนิดหน่อย คือ ท่านชาญเชาวน์บอกว่า การประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บางจุดบางพื้นที่ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ต่อด้วยรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งน่าจะใช้แนวทางเดียวกันนั้น เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก เพราะกฎหมายออกแบบมาให้ใช้ “บางจุด-บางช่วงเวลา” ไม่ใช่ประกาศใช้คลุมหมด แล้วค่อยเลือกยกเลิกเป็นบางจุด และเรื่องแบบนี้ใช้สถิติตัวเลขเหตุรุนแรงเป็นตัวชี้วัดอย่างเดียวไม่พอ
ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองและข้อเสนอของท่านชาญเชาวน์ ซึ่งจะว่าไปก็เป็น “คนหน้าเก่า” ในบริบทงานภาคใต้ และผมคิดว่าเป็นการ "เปลี่ยนโจทย์" ที่น่าสนใจ โดยมุ่งไปที่ผลกับประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้น มากกว่าการถกเถียงด้วยจุดยืนต่างกันสุดขั้วที่ไม่มีวันขยับมาเจอกันได้เลย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ผมต้องขออภัยด้วยที่หายไป 1 สัปดาห์ ไม่ได้มาพบกับท่านผู้อ่าน เผอิญมีปัญหาเรื่องสุขภาพนิดหน่อยครับ