"ดุลยภาค" วิเคราะนโยบายดีที่สุดเวลานี้ของเมียนมาร์ คือ นิ่งเงียบ-ไม่ตอบโต้ เรื่องโรฮีนจา
“แค่มีกระแสว่าจะให้โรฮีนจามีสิทธิในการเลือกตั้ง ประชาชนยังออกมาประท้วง เมียนมาร์มีความเป็นพุทธนิยมสูงมาก มองดูแล้วรัฐบาลไม่น่าจะต้านกระแสของประชาชนไหว ”
ข่าวการอพยพของกลุ่มโรฮีนจาปัญหาการค้ามนุษย์ เรื่องสิทธิมนุษยธรรม ถูกกล่าวถึงในสังคมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานว่าด้วยการอพยพถิ่นฐานในคาบสมุทรอินเดียที่ไม่ปกติ โดยหวังจะเป็นเวทีถกและหาทางออกร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน และยุโรป รวมถึงองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
ขณะที่หลายฝ่ายพยายามหาต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็เรียกร้องและกดดันเมียนมาร์เพื่อให้ยุติการกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์โรฮินจาเสียทีี
สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการเชี่ยวชาญประเทศเมียนมาร์ อาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ดุลยภาค วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เมียนมาร์ไม่ใยดีและไม่สนใจต่อการกดดันของสหรัฐอเมริกา ว่า "อันที่จริงแล้วเมียนมาร์ไม่มีความไว้ใจให้กับอเมริกาเลย ปัจจัยแรกคือการเมืองเรื่องของพลังงาน น้ำมัน ท่อส่งก๊าซ ล้วนอยู่ที่รัฐยะไข่ เมียนมาร์เองกลัวว่ามหาอำนาจจะเข้ามาแทรกแซง 2.เคยมีการขับไล่โรฮินจาของกลุ่มประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งได้รับการหนุนจากอเมริกา และมีการคิดจะล้มระบอบทหารเมียนมาร์ โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ อีกทั้งยังนำเรื่องปัญหาของโรฮีนจามาเป็นประเด็นที่อาจจะเกิดการเข้ามาแทรกแซงภายในประเทศก็ยิ่งทำให้เมียนมาร์รู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้า กลัวว่าเมียนมาร์จะแตกด้วยปัจจัยเหล่านี้"
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือหากอเมริกาเองจับประเด็นในเรื่องพุทธกับมุสลิมของเมียนมาร์ถูกก็อาจจะมีการแทรกแซงบางอย่างเกิดขึ้น
นอกจากนี้ชนชั้นนำของเมียนมาร์นำรัฐยะไข่มา มองความสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์โลก และในขณะนี้ก็จะมีการเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งทางเมียนมาร์ก็วางตัว "พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย พล.อ.ฉ่วย มาน" ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งคู่ ดังนั้นคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอเมริกา และคงยากที่จะไว้ใจหากอเมริกาจะกดดันให้ทำอะไร
สำหรับบทบาทของอองซาน ซูจี ที่นานาประเทศมองว่าเธอดูนิ่งเฉยกับปัญหาสิทธิมนุษยชนของโรฮีนจา ทั้งๆที่อองซาน ซูจี คือคนที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมากในพม่านั้น
อาจารย์ดุลยภาค บอกว่า อองซาน ซูจีมีแฟนคลับเป็นกลุ่มพุทธนิยม และสถานการณ์การเมืองขณะนี้อยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งดูทีท่าแล้วพล.อ.ฉ่วย มาน อาจจะได้ขึ้นมา หากเธอทำอะไรที่ตรงข้ามกับระบบหรือความมั่นคงของเมียนมาร์มากนักนั่นจะไม่ส่งผลดีต่อตัวของอองซาน ซูจี และอาจจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากอีกครั้ง
อีกทั้งในช่วงสมัยนายพลอองซาน ผู้เป็นบิดา ก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐยะไข่ ดังนั้นนโยบายที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ การนิ่งเงียบและไม่ตอบโต้ ในเรื่องของโรฮีนจา
นอกจากนี้อาจารย์ดุลยภาค มองว่า การแก้ปัญหาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ของโรฮีนจานั้นมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ
และในทางปฏิบัติการจะให้รัฐบาลเมียนมาร์ให้การยอมรับหรือพิสูจน์สัญชาติก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศนี้ใช้พุทธนิยมเป็นตัวตั้ง มีพระสงฆ์มาแสดงเทศนา ปาฐก
แม้กระทั่งมีการกล่าวว่า มุสลิมจะเข้ามาผสมและทำให้คนเมียนมาร์ที่มีอยู่น้อยลง มีการสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น
"หากจะมองปัญหาโรฮีนจาด้วยการเอาเมียนมาร์เป็นตัวตั้ง เมียนมาร์เองก็พยายามจะบอกว่าได้มีการรอมชอมทางการทูตพอสมควร และการปฏิรูปมีความก้าวหน้าบ้าง แต่ตัวรัฐบาลเองต้องคุยกับคนพุทธเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความลำบากจึงอยู่ตรงจุดนี้
แค่มีกระแสว่าจะให้โรฮีนจามีสิทธิในการเลือกตั้ง ประชาชนยังออกมาประท้วง เมียนมาร์มีความเป็นพุทธนิยมสูงมาก มองดูแล้วรัฐบาลไม่น่าจะต้านกระแสของประชาชนไหว เรื่องนี้ค่อนข้างลำบาก และก็มีความเป็นไปได้ว่าเมียนมาร์จะนำปัญหาในเรื่องการจราจลของประชาชนไปใช้เป็นเหตุผลในการตอบนานาประเทศว่า เขาไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาโรฮีนจาได้ทั้งหมด เพราะมิฉะนั้นในประเทศจะเกิดจราจล”
อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. เล่าอีกว่า เคยมีนักประวัติศาสตร์ลูกครึ่งเมียนมาร์กับอาระกัน อธิบายทฤษฎีการแก้ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์โรฮีนจาในเมียนมาร์ว่า จะต้องมีวงกลม 3 วงซ้อนกัน โดยให้เอาปัญหาของโรฮีนจาวางไว้ตรงกลาง
วงแรกเป็นวงของกลุ่มจิตตะกองที่เข้าเมียนมาร์มาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในเขตเมียนมาร์ตอนกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ถูกมองว่าน่ากลัว กลุ่มที่สองจะเป็นกลุ่มบังคลาเทศที่เป็นพุทธและมุสลิมมาปะทะกัน และ สุดท้ายคือการมองรัฐยะไข่ว่า เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เกรงว่าจะมีการทำกินที่ยากลำบาก เนื่องจากกลุ่มเบงกาลีที่อพยพมานั้นจะมาแย่งชิงดินแดนแห่งนี้ ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องมองเรื่องอิสลาม พุทธ ประชากรศาสตร์
หากเมียนมาร์เปิดศึกทั้งตะวันตก ตะวันออก จะลำบากมากเขาจึงต้องการที่จะรักษารัฐยะไข่เอาไว้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์เรื่องทรัพยากร
“ฉะนั้นการกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างอเมริกา ก็อาจไม่ได้ผล เพราะเมียนมาร์ไม่มีความไว้ใจให้กับประเทศเหล่านี้เลย และปัญหาโรฮีนจาก็ยังจะยืดเยื้อไปอีกนาน”
ขอบคุณภาพจากประชาไท