นักวิจัยผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ‘เณรน้อยเก่งภาษา-หรรษาปัญญา’ ฝึกพูดภาษาไทยให้ชัด
นักวิชาการจุฬาฯ แท็กทีมพัฒนาแบบฝึกอิเล็กทรอนิกส์แก้ปัญหาอ่านออกเสียง-พูดภาษาไทยไม่ชัด ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพฯ 400 ชุด พระราชทาน ร.ร.ตชด.-ร.ร.พระปริยัติธรรม-ทัณฑสถาน ผอ.สถาบันภาษาไทยสิรินธรหวังครูใช้เป็นสื่อการสอนฝึกฝนเด็ก ต่อยอดเป็นงานวิจัยระดับชาติ
วันที่ 5 มิถุนายน 2558 สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุม ‘ทำอย่างไรจะพูดภาษาไทยชัด’ โดยเป็นการนำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาแบบฝึกอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านออกเสียงและการพูดภาษาไทยไม่ชัด ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการวิจัยและพัฒนาแบบฝึกอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านออกเสียงและการพูดภาษาไทยไม่ชัด มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เยาวชนไทย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่อาศัยในถิ่นทุรกันดารภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะนักเรียนสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม สามารถพัฒนาการพูดและอ่านออกเสียงภาษาไทยได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงระหว่างการสะกดคำกับการออกเสียงคำ โดยใช้การบูรณาการองค์ความรู้ด้านภาษาศาสตร์ คติชนวิทยา และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
ผศ.ดุษฎีพร ชำนิโรคศานต์ ผอ.สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ กล่าวถึงการดำเนินงานด้านภาษาศาสตร์ว่า ผู้วิจัยได้เสนอต้นแบบการฝึกออกเสียงภาษาไทย ซึ่งเป็นคู่มือที่คุณครูสามารถนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ ในรูปแบบนิทานเรื่อง ‘เณรน้อยเก่งภาษา’ และในรูปแบบการ์ตูนเกม ชุดฝึกอิเล็กทรอนิกส์ ‘หรรษาปัญญา’ โดยนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองหรือมีคุณครูคอยแนะนำด้วยความสนุกสนาน
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ คุณครูที่แนะนำในการฝึกออกเสียงภาษาไทยต้องพูดชัดเจนด้วย เพราะเคยฝึกอบรมคุณครูภาษาไทยพบว่า หลายคนพูดไม่ชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้จะฝึกนักเรียนพูดชัดเจนได้อย่างไร ฉะนั้นจะต้องนำกลับไปพัฒนาตนเองก่อน และหากผู้บริหารสถาบันการศึกษาหรือคุณครูภาษาไทยในโรงเรียนต่าง ๆ สนใจก็สามารถนำไปใช้หรือเป็นต้นแบบในการเรียนการสอนได้
ผอ.สถาบันภาษาไทยสิรินธร กล่าวด้วยว่า การวิจัยโครงการนี้คาดหวังให้มีการต่อยอดในระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2558 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สกว.ได้พิจารณาให้เงินสนับสนุนโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แล้ว
ด้าน ศ.ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงการดำเนินงานส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์ว่า จะแก้ไขปัญหาการออกเสียงภาษาไทยได้ ผู้สอนต้องเรียนรู้ปัญหาแท้จริง มิฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจะผิดพลาด โดยมีการวิเคราะห์เปรียบต่างและวิเคราะห์ข้อผิดในการออกเสียงภาษาไทย ค้นพบข้อผิดพลาด คือ ข้อผิดที่เกิดจากการอ่านหนังสือไม่แตกฉาน และข้อผิดประเภทออกเสียงเพี้ยน
ที่น่าสนใจ การออกเสียงมิได้เพี้ยนแบบชนเผ่า แต่เพี้ยนในลักษณะออกเสียงไม่ได้เหมือนเด็กในเมือง เช่น คำควบกล้ำ ออกเสียง ร ล เป็นต้น เพราะสามเณรเป็นเด็กด้อยโอกาส ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีฐานะยากจน และมีการใช้ภาษาคำเมืองในการสื่อสาร ไม่ใช่ภาษากลาง จึงทำให้มีเสียงเพี้ยนเหมือนคนในเมือง
หัวหน้าโครงการฯ กล่าวด้วยว่า คณะวิจัยได้ผลิตเอกสารวิชาการและเกมคอมพิวเตอร์จำนวน 500 ชุด สำหรับใช้เป็นแบบฝึกเสริมบทเรียนภาษาไทยที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 400 ชุด เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส พระองค์จึงอยากให้นักวิชาการลงพื้นที่ช่วยพัฒนา ตลอดจนทัณฑสถาน เพื่อให้ผู้ต้องโทษฝึกการออกเสียงภาษาไทยด้วย .