คนร.ฟ.ท.กลัวสูญเสียงาน ตั้ง"กรมราง" ยังไม่คืบหน้า
ปัญหาจัดตั้งกรมรางยังไม่เคลียร์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยแจง คนร.ฟ.ท.กลัวสูญเสียงาน เผยผู้ว่าการพูดคุยกับรมต.คมนาคมแล้ว ส่วนข้อสรุปให้ไปถามผู้ว่าการร.ฟ.ท.เอง
หลังจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีนโยบายที่จะจัดตั้งกรมรางขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดทั้ง เรื่องความปลอดภัย รวมถึงดูแลการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ทั้งรถไฟฟ้ารถไฟทางคู่ และรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตรที่จะมีการก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง
กระแสพนักงานในการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ออกมาคัดค้านอย่างชัดเจนพร้อมทั้งมีการเดินสายให้ข้อมูลกับเหล่าพนักงานและเปิดเวทีแสดงความเห็นต่อการจัดตั้งกรมรางขึ้น
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การจะจัดตั้งกรมรางขึ้นมานั้นต้องสร้างเวทีเล็กๆให้เกิดการพูดคุยกันขึ้นมาก่อน ซึ่งขณะนี้เวทีลักษณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น หากพูดคุยกันในเวทีใหญ่จะมีทั้งกระแสและบรรยากาศที่อาจจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นเพราะหลายฝ่ายก็คนละความเห็น ณ ตอนนี้ก็เริ่มมีการพูดคุยกันบ้างกับหลายฝ่ายแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
“หากดูกระแสตอนนี้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมท่านก็ไม่ค่อยออกมาพูดเรื่องกรมรางแล้วนะ”
เมื่อถามว่าแสดงว่าแนวโน้มการพูดคุยของผู้ว่าการร.ฟ.ท.กับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมีแนวโน้มว่ากรมรางอาจจะไม่เกิดขึ้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า สุดท้ายจริงๆแล้วรัฐบาลก็ต้องจัดตั้งกรมรางขึ้นมา เพราะต้องมีคนดูแล แต่สิ่งสำคัญคือ ตั้งขึ้นมาแล้วปฏิบัติหน้าที่อย่างไร แบบไหน นี่คือสิ่งที่จะต้องเอามาพูดคุยกันและเดินหน้าทำความเข้าใจกับหลายภาคส่วน
"ที่สำคัญคือหัวเรือใหญ่อย่างผู้ว่าการร.ฟ.ท.ต้องเล่นบทบาท ซึ่งตอนนี้ก็มีการสัญญากับสหภาพร.ฟ.ท.ไปแล้วว่า ไม่ต้องมีความกังวลเรื่องการจัดตั้งกรมราง หากมีท่านผู้ว่าจะออกไปนำทัพเอง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าเองก็คุยกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมาตลอด ขณะนี้ ก็ยังไม่ทราบข้อสรุปว่าเป็นอย่างไรความคืบหน้าจะต้องไปถามท่านเอง"
รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลักๆคือคนในร.ฟ.ท.กลัวการสูญเสียงาน กลัวการย้ายไปอยู่ราชการ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจ และเป็นหน้าที่ของเบอร์ 1 ขององค์กรที่จะต้องชี้แจงความชัดเจนให้กับลูกน้อง
“ผมพูดไปก็ไม่มีใครฟัง ต้องให้เบอร์หนึ่งพูด ถ้าเบอร์หนึ่งไม่พูด พูดไม่เคลียร์ เบอร์สอง เบอร์สามก็พูดไม่ได้ ทุกอย่างในองค์กรจึงอยู่ที่การตัดสินใจของเบอร์1”