เตือนแล้วไม่ฟัง! “ประสาท”ลั่น“อดีตนายกฯ”เจตนาละเลยจำนำข้าวจึงถูกชี้มูล
“…เช่น ป.ป.ช. เคยเตือนนายกรัฐมนตรีในอดีตที่ผ่านมาถึงสองครั้ง บอกให้ระวังการจำนำข้าวมันสุ่มเสี่ยง แต่สุดท้ายก็เกิดการทุจริตขึ้นจนได้ อย่างนี้ถือว่ามีเจตนา เพราะเราเตือนแล้ว คุณทำหรือไม่ ทำแค่ไหน ถ้าไม่ได้ทำ หรือทำน้อย ก็ถือว่าคุณละเลย อย่างนี้ก็ไปแล้ว…”
นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนา “มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จัดโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า การป้องกันถือเป็นหัวใจสำคัญในการปราบปรามการทุจริต ถ้าป้องกันดีก็ไม่ต้องปราบ ดังนั้นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปทุกวันอังคารและพฤหัสบดี รวมแล้วประมาณ 10-20 เรื่องต่อสัปดาห์นั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดนเยอะที่สุด ส่วนใหญ่เป็นคดีทุจริต ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ร่ำรวยผิดปกติ หรือทำผิดเรื่องฮั้วการประมูล ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่ได้สนุก หรือว่าสะใจที่ชี้มูลความผิดเขา ทำให้เขาถูกปลดออก ไล่ออก หรือติดคุก
แต่มันรู้สึกขมขื่น รันทดใจ และไม่สบายใจ เพราะบางเรื่องเลยไปถึงการยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือเว้นวรรคทางการเมือง เพราะการปราบปรามเป็นงานด้านลบ เป็นงานพระเดช แต่การป้องกันเป็นงานพระคุณ มันยั่งยืนมากกว่า
นายประสาท กล่าวอีกว่า ถ้าการป้องกันดีก็ยุบ ป.ป.ช. เลยก็ได้ จะไปนั่งปราบทำไมให้โมโห ให้เครียด ตนอยู่มา 8 ปีครึ่ง พูดได้เต็มปากว่า งานป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องทำควบคู่กับไป ป้องก็ต้องป้อง ปราบก็ต้องปราบ การป้องกันเป็นงานที่ดี ขณะเดียวกันบางคนที่คิดทุจริตต่อให้ป้องกันดีก็เกิดทุจริตอยู่ดี ดังนั้นจึงต้องปราบ เอาไว้ไม่ได้ แต่งานป้องกันเป็นการเตือนไว้ก่อน และก็เคยเตือนไปในหลายโครงการ
“เช่น ป.ป.ช. เคยเตือนนายกรัฐมนตรีในอดีตที่ผ่านมาถึงสองครั้ง บอกให้ระวังการจำนำข้าวมันสุ่มเสี่ยง แต่สุดท้ายก็เกิดการทุจริตขึ้นจนได้ อย่างนี้ถือว่ามีเจตนา เพราะเราเตือนแล้ว คุณทำหรือไม่ ทำแค่ไหน ถ้าไม่ได้ทำ หรือทำน้อย ก็ถือว่าคุณละเลย อย่างนี้ก็ไปแล้ว”
นายประสาท กล่าวด้วยว่า การทุจริตเชิงนโยบายนั้นหากจะแก้ไขปัญหาต้องทำเป็น พ.ร.บ. ซึ่งขณะนี้กำลังระดมสมองเสนอในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพราะถ้าได้บรรจุจะเป็นอานิสงค์อันประเสริฐ เขาอาจไม่มองเสียงนกเสียงกาอย่างเรา แต่ถ้าเขาฟังสักนิด เสียงนกเสียงกาอย่างเราก็มีเหตุผล ทั้งนี้ได้ข่าวแว่ว ๆ ว่า มีหลายเรื่องในการทุจริตเชิงนโยบาย หรือทุจริตระดับประเทศ จะนำมาแก้ไขในคราวนี้
สำหรับปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายนั้น นายประสาท กล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เกิดใหม่ เป็นเรื่องทำกันมาแล้วมองไม่ค่อยออก เพราะมันแนบเนียน เหมือนกับเราดูหนังทั้งเรื่อง มีการวางแผนจะเอานโยบายมาทุจริตอย่างไร มีการทำโครงการใหญ่ ใครสักคนจะมาตำหนิไม่ได้ ประชาชนได้ประโยชน์ ใช่แน่นอน แต่สุดท้ายให้ดูตอนจบ ประโยชน์ตกแก่ใคร แก่ตนเอง ญาติ พรรคพวกอีกทีหนึ่งหรือไม่
นายประสาท กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. นั้นจะมองเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ถูกกฎหมายหรือไม่ มีอำนาจหรือไม่ และเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ ซึ่งหากดูที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะผ่าน 3 อย่างแรกนี้ อย่างไรก็ดีต้องดูสุดท้ายว่า มีการบิดผันกฎหมายหรือไม่ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนไปตกแก่บริษัท หรือพรรคพวกของคุณด้วยหรือไม่
“ถ้าดูผิวเผินก็มีกฎหมาย มีอำนาจ เป็นไปตามขั้นตอนทั้งสิ้น จับไม่ได้ แต่เมื่อดูว่ามีการบิดผันกฎหมายหรือไม่ คดีทุจริตเชิงนโยบายต้องใช้เวลา เพราะมีความแยบยล สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ต้องใช้เวลาดูนาน”
นายประสาท กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะนำข้อเสนอในการสัมมนาไปให้คณะอนุกรรมการ พิจารณาว่าครบถ้วนหรือไม่ หากครบถ้วนแล้วจะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเพื่อสมควรออกเป็นมาตรการป้องการทุจริตเชิงนโยบายของ อปท. จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป