เกาหลีแนะไทยก้าวเป็นผู้นำระบบรางอาเซียน ซื้อเทคโนโลยีแล้วต้องเรียนรู้ด้วย
นักวิชาการแนะพัฒนาระบบรางต้องไม่เพียงแค่ซื้อเทคโนโลยีปลายน้ำ ต้องเร่งสร้างวางแผนพัฒนาองค์ความรู้ ชี้แม้ไทยเสียโอกาสไป 60 ปี เชื่อมั่นกลับมายืนได้ ขอเพียงเริ่มต้นอย่างจริงจังสนับสนุนการวิจัยและไม่มองการพัฒนาแยกส่วน
4 มิถุนายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดแถลงข่าวงานประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางแห่งประเทศไทย ครั้งที่2 และเสวนาในหัวข้อ"ประเทศไทยกับโอกาสและความท้าทายในการเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทางรางแห่งภูมิภาคอาเซียน" ณ อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 14
ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร และประธานในการจัดงานประชุมวิชาการ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค เนื่องจากมีความเหมาะสมด้านที่ตั้งทำให้ยุทธศาสตร์การขนส่งและโลจิสติกส์ของหลายๆ ประเทศต้องพึ่งพาเรา อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนด้านโครงสร้างพื้นฐานทำให้เรามีข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้นในการดึงดูดประเทศมหาอำนาจด้านระบบราง อย่างไรก็ตามการวางแผนรองรับด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งประเทศไทยเองต้องชัดเจนว่า ในอนาคตเราจะไม่เป็นเพียงผู้ซื้อเทคโนโลยีที่ปลายน้ำเท่านั้น
ด้านดร.จินยู ชอย ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยระบบรางเกาหลี (KRRI) กล่าวถึงตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางในการสร้างทางเชื่อมโยง แต่หากมีการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง 4 ส่วน
1.การนำเทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามาใช้ผู้รับผิดชอบจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีนั้น เพื่อจะได้ตัดปัญหาความกังวลว่า หากเจ้าของเทคโนโลยีกลับไปแล้วเมื่ออุปกรณ์มีปัญหาเราจะไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญของผู้รับผิดชอบ
2.การสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบรางจะต้องไม่มีเพียงสถานที่เดียว แต่ต้องมีหลายสถาบันที่พร้อมจะสร้างหลักสูตรและส่งเสริมการศึกษา เพราะในประเทศเกาหลีก็มีหลายสถาบันและพัฒนาคนเหล่านั้นขึ้นมาทำงานให้ประเทศ ซึ่งไทยก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน
3.เรื่องความรู้ คือจะต้องมีความรู้ทุกอย่างอยู่ในสถาบันเดียว จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา การที่มีความรู้ทุกอย่างอยู่ในองค์กรสามารถที่จะพัฒนาเรื่องต่างๆไปได้แล้ว ดังนั้นการแยกความรู้อื่นๆออกไปแยกย่อยนั้นจะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า
และ 4 หากไทยต้องการเป็นผู้นำเรื่องระบบรางในอาเซียนก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ แม้ในอนาคตแผนยุทธศาสตร์จะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็สามารถนำมาแก้ไขบางส่วนและดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่มีความขัดข้อง
ขณะที่ดร.นคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจะพัฒนาระบบรางของไทยอย่างแท้จริงนั้น วันนี้จะนั่งมองภาพคนละฝั่งไม่ได้ แต่ต้องมาภาพรวม และต้องมองภาพรวมร่วมกับอุตสาหกรรมให้ได้เหมือนอย่างประเทศเกาหลีถึงจะสำเร็จและเป็นการทำงานแบบบูรณาการ
"กลไกของการพัฒนากำลังเดินอยู่ เราจึงไม่ควรเดินแยกส่วนและมองการพัฒนาแบบภาพรวม หากมองแบบนี้จะเกิดความชัดเจนในการพัฒนา ที่สำคัญต้องสร้างเวทีที่มีความเสมอภาคให้ทุกคนได้มานั่งคุยกัน" ดร.นคร กล่าว และว่า แม้ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ระบบราง ระบบรถไฟไทยไม่ได้รับการพัฒนา แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะไม่มีใครเริ่ม ดังนั้น วันนี้ขอให้เราได้เริ่มต้น ตั้งใจจริง คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ มีการวิจัยที่ดี อย่างไรระบบรางต้องพัฒนาได้แน่ ขอเพียงมีการเริ่มต้น
ทั้งนี้ สำหรับงานประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางแห่งประเทศไทยจะจัดขึ้นในวันที่ 26-28 สิงหาคม 2558 ณ จังหวัดพิษณุโลก โดยภายในงานจะมีสถาบันวิจัยด้านระบบรางจากประเทศมาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนนักวิจัยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและยุโรป