ส.ผู้พิมพ์จำหน่ายหนังสือฯบุกศธ.จี้เร่งทบทวนแจกแท็บเล็ตนร.
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยจี้ศธ.ทบทวนการแจกคอมพิวเตอร์แทบเล็ตให้นักเรียน ชี้ควรสนับสนุนส่งเสริมการอ่านให้เป็นระบบ ขณะที่ยูเนสโกเสนอตัวช่วยดูแท็บเล็ต พร้อมแนะควรต้องใช้ภาษาไทยทั้งหมด
นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังนำตัวแทนสมาคมฯ และที่ปรึกษาสมาคมฯ เข้าพบ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อยื่นข้อเสนอในเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน เนื่องจากสมาคมฯกกำลังเร่งให้มีการรณรงค์สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้สอดคล้องกับทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศไทย พ.ศ.2552-2561 ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วจึงไม่ต้องการให้การส่งเสริมการอ่านถูกละเลย
ทั้งนี้ นายวรพันธ์ ยังได้เสนอแนะนโยบายการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย โดยสร้างนิสัยรักการอ่านแก่กลุ่มคนในวัยต่างๆ ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบ โดยให้ความสำคัญในระดับบุคคล และการยื่นข้อเสนอแนะนโยบายการส่งเสริมการอ่านของเด็กและเยาวชนในระบบการ ศึกษา เพราะกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบเด็ก และเยาวชนทั่วประเทศ รวมถึงบุคลากรด้านการศึกษาโดยตรง
“สมาคมฯ ขอเสนอให้ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้กลไก อำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถดำเนินการได้ เช่น กำหนดให้เด็กและเยาวชน มีหนังสืออ่านเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์อย่างน้อยเดือนละหนึ่งเล่ม พัฒนาห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดชุมชน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจัดหาหนังสือใหม่ๆ ไว้บริการตลอดเวลา อีกทั้งยกระดับวิชาชีพครู บรรณารักษ์ โดยเพิ่มบทบาทการสอนในชั้นเรียน กำหนดตัวชี้วัดผลการอ่านในนักเรียนอย่างเหมาะสม และทบทวนความพร้อมต่างๆ ในนโยบายการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1เพื่อไม่ให้การอ่านถูกละเลยไป” นายวรพันธ์ กล่าว
ด้านน.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ รักษาการปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ผู้แทนองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกประจำประเทศไทย เข้าหารือกับตนในเรื่องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็ก ตามโครงการนำร่อง One Tablet PC per Child โดยยูเนสโกจะเข้ามาช่วยเหลือ เรื่องขององค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร และการเชื่อมโยงเครือข่าย
ซึ่งในส่วนการเชื่อมโยงเครือข่ายนั้น ตนเสนอว่าภาษาในแท็บเล็ตควรต้องใช้ภาษาไทยทั้งหมด ส่วนช่วงชั้นที่จะใช้ ตัวแทนยูเนสโกเสนอว่า บางประเทศ อาทิ มาเลเซีย มาเก๊า และจีน จะไม่ใช้แท็บเล็ตในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 แต่ จะให้กับเด็กชั้นมัธยมศึกษา ในขณะที่การพัฒนาบุคลากรนั้น ในต่างประเทศมีการแจกแท็บเล็ตให้ครูด้วย ในส่วนขององค์ความรู้ต้องดูว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร และการพัฒนาบุคลากรที่น่าจะให้ทั้งเด็กและครูใช้แท็บเล็ต หรือว่าให้ใช้แท็บเล็ตเฉพาะกลุ่มสาขาวิชา รวมทั้งเสนอว่า บางประเทศมีการให้คูปองแทนเงินแก่เด็กเพื่อนำไปเลือกซื้อแท็บเล็ตเอง ส่วนราคาแท็บเล็ตนั้น มีบริษัทของไทยแห่งหนึ่งจำหน่ายเครื่องละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ