ยิ่งแจกฟรียิ่งทิ้งขยะกันมาก ‘ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย’หนุนทำถุงพลาสติกให้มีต้นทุน
5 มิ.ย.วันสิ่งแวดล้อมโลก รัฐจับมือภาคธุรกิจชูแคมเปญรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยแนะต้องส่งเสริมครอบคลุมทุกบรรจุภัณฑ์ เชื่อลดปริมาณขยะได้ เผยไทยและประเทศเอเชียสอบตก ‘ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม’
วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยในปีนี้มีการรณรงค์ภายใต้หัวข้อ 7 พันล้านฝัน 7 พันล้านใจ คิดห่วงใยในผืนโลก (Seven Billion Dreams, One Planet, Consume with Care) มุ่งเน้นการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และภาคีความร่วมมือภาคธุรกิจ ได้ลงนามความร่วมมืองดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าในวันที่ 15 ของทุกเดือน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายยาก โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก โดยเปรียบเทียบกับประเทศแถบยุโรปว่า ไทยมีการใช้ในปริมาณมากเกินไป เพราะถุงพลาสติกไม่มีมูลค่า และมักพบในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มมูลค่าของถุงพลาสติก อาทิ ถุงละ 1 บาท ถุงละ 3 บาท ทำให้ผู้บริโภคต้องคิดก่อนซื้อทุกครั้ง ไม่กลายเป็นปัญหาระยะยาว ด้วยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ย่อยสลายยากและใช้เวลานาน
การที่ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าบางแห่งไม่บริการถุงพลาสติกฟรี ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเห็นด้วย และถือเป็นแนวทางต้องปฏิบัติตาม พร้อมยกตัวอย่างโรงเรียนหลายพื้นทีไม่สนับสนุนนักเรียนใช้ถุงพลาสติก หากต้องการถุงใส่อาหารกลับบ้านจะต้องเสีย 1 บาท/ถุง มิฉะนั้นต้องแจกฟรีเรื่อยไปและทิ้งขยะกันมาก
"ไม่ควรรณรงค์ลดใช้เฉพาะถุงพลาสติก แต่ควรครอบคลุมบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น โฟม แก้วกาแฟ ซึ่งเป็นภาระในการกำจัดทั้งหมด” ดร.ขวัญฤดี กล่าว และว่า การคิดมูลค่ากำจัดก็จะทำให้ราคาถุงมีต้นทุนมากขึ้น คนใช้จะลดน้อยลง ทั้งนี้ จะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนเป็นหลัก
นอกจากนี้ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยังกล่าวว่า ไทยและประเทศในเอเชียแปซิฟิกสอบตกเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ยกเว้นญี่ปุ่น โดยมีปัญหาเกี่ยวกับการกำจัดขยะ การจัดการบรรจุภัณฑ์ การควบคุมใช้ทรัพยากรในอาคาร ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ของโลก ยังไม่นับรวมปัญหาการเผาขยะข้ามแดน กักเก็บทรัพยากรเกินตัว ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะสังคมละเลย ผู้ผลิตจึงต้องใส่ใจโดยผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ดี สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และไม่เป็นภาระในการกำจัด
ส่วนคำถามว่า บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติข้างต้น อาทิ ผลิตจากธรรมชาติ มีราคาสูงเกินไป ดร.ขวัญฤดี กล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกลไกตลาด เมื่อผู้ซื้อมีจำนวนน้อย ราคาสินค้าจะสูง หากผู้ซื้อมีจำนวนมากขึ้น ราคาสินค้าจะถูก เพราะเกิดการแข่งขันในตลาด ซึ่งปัจจุบันเพิ่งผลิตใช้ในไทยและการออกแบบผลิตภัณฑ์ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาระยะยาว คือ คนไทยต้องลดการใช้ถุงพลาสติก แล้วหันมาใช้ถุงผ้าแทน เชื่อว่าจะลดขยะได้ดีที่สุด .