ก.เเรงงานเร่งออก กม.ลูกรองรับ พ.ร.บ.เเรงงานทางทะเล ปลดล๊อกใบเหลืองอียู
ก.แรงงานเร่งออก กม.ลูกรองรับร่าง พ.ร.บ. เเรงงานทางทะเล หวังขจัดปัญหาเจ้าของเรือและแรงงานได้รับการดูแลตามหลักสากล สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยตอบโจทย์ IUU
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณา เร่งรัด ติดตามร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แรงงานทางทะเล พ.ศ. ... ครั้งที่ 1/2558 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองฯ ให้ทันต่อการประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. ....ที่มีกรอบระยะเวลาการประกาศใช้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2559
โดยในที่ประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรอง มีตัวแทน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม และจากภาคเอกชน คือ ประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย และประธานสมาคมวิชาชีพชาวเรือไทย เป็นคณะทำงานพิจารณา เร่งรัด ติดตาม ร่างกฎหมายดังกล่าว รวมประมาณ 65 ฉบับ
รมว.เเรงงาน กล่าวต่อว่า ได้มีการแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานเอาไว้ และการกำหนดกลุ่มของกฎหมายตามภารกิจ อาทิ ประกาศกรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำขอรับแบบในรับรอง การออกใบรับรองชั่วคราว อายุและการต่ออายุ การตรวจสอบ ติดตาม และการเพิกถอนใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล ถือเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา IUU ที่กลุ่มประเทศ EU ให้ใบเหลือง
“กฎหมายทุกฉบับ รวมถึงกฎหมายลูก ขอให้ดูด้วยความรอบคอบ จับทิศทางให้เร็ว อย่างไรก็ตามความรอบคอบทางด้านกฎหมายเป็นภูมิปัญญาของส่วนราชการ รับฟังจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง การบังคับใช้ต้องเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกฎหมายเป็นเครื่องบังคับใช้ไปสู่อนาคต เป้าหมายหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือการเข้าสู่การแข่งขันกับนานาประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ” พลเอก สุรศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานของสภาพการจ้างการทำงาน ความปลอดภัย และสุขอนามัย ของการทำงานบนเรือเดินทะเล โดยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention,2006 : MLC) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีกฎหมายลำดับรองหลายฉบับขึ้นมารองรับเพื่อใช้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งทางทะเลสามารถดำเนินการเป็นไปโดยราบรื่น ขจัดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่เจ้าของเรือ จึงต้องออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำด้านสภาพการจ้างและสภาพการทำงานบนเรือให้สอดคล้องกับอนุสัญญา MLC .