รัฐธรรมนูญที่ดีในทรรศนะ “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย”
“..ยามใดที่มีความขัดแย้งจนนำไปไปสู่การตัดสินโดยองค์กรซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินเพื่อระงับข้อพิพาท เราก็จะรับฟังคำตัดสินนั้น และผู้ตัดสินก็จะต้องตัดสินภายใต้หลักนิติธรรมเพื่อให้ข้อพิพาทนั้นยุติลง ไม่ใช่ตัดสินแล้วเป็นการเพิ่มเติมความขัดแย้ง”
เช้าวันที่ 3 มิถุนายน 2558 คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณา ศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. จัดสัมมนาเรื่อง “วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง”
ก่อนเปิดให้ผู้ร่วมสัมมนาอภิปรายแสดงความคิดเห็น “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” รองประธานสนช.คนที่ 1 กล่าวเปิดเวทีสัมมนาพร้อมกับปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญใหม่”
เนื้อหาส่วนหนึ่งว่าด้วย รัฐธรรมนูญที่ดีทรรศนะของรองประธาน “สุรชัย” สำนักข่าวอิศรา ถอดความและเรียบเรียงเนื้อหาในประเด็นที่น่าสนใจมาฝากคุณผู้อ่านดังนี้
…………
“สุรชัย” เปิดประเด็นว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่จะสามารถใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้อย่างถาวรนั้น ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
เป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติที่มนุษย์มีมาตั้งแต่เกิดหรือสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเพื่อเป็นหลักประกันว่าชาวไทยทุกคนจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ โดยไม่ถูกรัฐหรือบุคคลใดไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีการกำหนดกฎ กติกา ในการแบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันในระหว่างองค์ผู้ใช้อำนาจของรัฐ
ทั้งนี้ องค์กรสำคัญที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนมีองค์กรหลัก 3 องค์กร ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
แต่คำถามมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้ทั้ง 3 องค์กรซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชน มีดุลแห่งอำนาจของแต่ละฝ่ายได้อย่างเหมาะสม ทำอย่างไรให้แต่ละฝ่ายต่างใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้อย่างเหมาะสม
ทำอย่างไรที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อำนาจไปมากกว่าหรือเกินเลยอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้องค์กรที่ได้อำนาจรัฐไปนั้น อาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ แล้วก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง
รองประธานสนช. กล่าวว่า ด้วยความที่ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และใช้ระบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ในการให้อำนาจกับองค์กร 3 องค์กรในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน
แต่ในกลไกรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา ไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนภายใต้หลักการแบ่งแยกและตรวจสอบอำนาจได้
การถ่วงอำนาจ การตรวจสอบอำนาจโดยอาศัยกลไกของรัฐสภาผ่านการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ไม่อาจทำหน้าที่ด้วยตัวของมันเองในการควบคุมฝ่ายบริหาร ความคิดดังกล่าวจึงถูกพัฒนาไปสู่การสร้างองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้น
ความคิดนี้มีความชัดเจนในยุคการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งสังคมส่วนใหญ่จะมีความชื่นชมว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เนื่องจากถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่
พร้อมกันนี้ ความคิดดังกล่าวยังถูกส่งผ่านและปรากฏเป็นกฎ กติกาในทางวิชาการอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540
เราจึงพบว่า ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 กลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ เพื่อก่อให้เกิดดุลอำนาจที่เหมาะสม ได้ถูกแสดงบทบาทผ่านองค์กรอิสระตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 จนบางฝ่ายขนานนามว่าเป็นอำนาจที่ 4 ในการเข้ามาใช้อำนาจรัฐ
ซึ่งในทรรศนะผมเห็นต่างว่า องค์กรอิสระไม่ใช่องค์อำนาจที่ 4 แต่องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการถ่วงดุลอำนาจ และหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเกิดผลบังคับใช้ได้จริง
หากองค์กรหลัก 3 อำนาจใช้อำนาจแทนประชาชน ต่างเคารพกฎกติกาของประเทศ ใช้อำนาจอยู่ในขอบเขตของตัวเอง องค์กรอิสระจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในการที่ไปก่อให้เกิดผลร้าย หรือก่อให้เกิดบทลงโทษกับ 3 องค์กรหลักของประเทศ
หลักคิดนี้ ยังได้รับการยอมรับและส่งผ่านมายังยุคสมัยที่เราจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งจะพบว่าในรัฐธรรมนูญ2550 เรายังคงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันได้แก่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญและผมเชื่อว่า จะยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไปในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ความเหมาะสมขององค์กรอิสระที่จะถูกกำหนดให้มีบทบาทในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะมีความเหมาะสมต่อองค์กรต่างๆมากน้อยแค่ไหน
“สุรชัย” กล่าวต่อไปว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
ประเด็นนี้ ผมเชื่อว่าภาคประชาชนให้ความสนใจค่อนข้างมาก ซึ่งหนึ่งในปรัชญาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ นั่นคือแนวคิดที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านกฎ กติกา ของรัฐธรรมนูญ
ประเด็นหรือหลักเกณฑ์ข้อต่อมาคือ หลักที่ว่าด้วยความเป็นอิสระของตุลาการ รัฐธรรมนูญที่ดี ควรที่จะมีบทบัญญัติในการเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของตุลาการ
ทั้งนี้เนื่องด้วยตุลาการจะทำหน้าที่วินิจฉัย ตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ทั้งข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน และประชาชนกับประชาชน
ในส่วนที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ผมเชื่อมั่นว่าไม่มีประเด็นที่ห่วงกังวลมากนัก แต่สำหรับรัฐกับประชาชน อาจมีข้อห่วงกังวลว่าอะไรจะเป็นหลักประกันสำหรับประชาชน
ทั้งนี้ หลักประกันดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับประชาชนได้ ต่อเมื่อตุลาการเองมีหลักประกันในความเป็นอิสระที่จะวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆเหล่านั้น โดยไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าอิทธิพลทางความคิด หรืออิทธิพลในรูปแบบใดก็ตาม
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีในทรรศนะของผม ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักประกันในความเป็นอิสระของตุลาการ
ประการสุดท้ายที่ผมคาดหวังว่าจะเป็นหนึ่งในกฎ กติกา ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คือ รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญซึ่งถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่จัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 และมีความชัดเจนขึ้นในยุคสมัยของรัฐธรรมนูญปี 2550
หากเปิดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 จะพบว่า มีการเขียนหลักเรื่องนิติธรรมไว้ และเขียนต่อไปด้วยว่า การใช้อำนาจรัฐทุกองค์กร ไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายริหาร หรือฝ่ายตุลาการ จะต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม
หมายความว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อถึงคราวที่จะต้องตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชน กฎหมายนั้นก็ต้องมีเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้คนในสังคม
ฝ่ายบริหารเมื่อถึงคราวที่จะต้องนำกฎหมายไปบังคับใช้ ก็ต้องบังคับใช้ภายใต้หลักนิติธรรม คือ ให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความผาสุก กับประชาชนเสมอหน้ากันทุกคน
ส่วนฝ่ายตุลาการเมื่อถึงคราวที่จะต้องนำกฎหมายไปตัดสินคดีความ ก็ต้องตัดสินบนพื้นฐานที่ก่อให้เกิดผลของการตัดสินคดีที่เป็นธรรม ไม่ยึดติดกับตัวอักษรจนเคร่งครัดมากเกินไป
และเมื่อถึงคราวที่จะต้องตีความกฎหมาย เมื่อไม่มีความชัดเจนของตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตุลาการก็ต้องตีความกฎหมายนั้นภายใต้หลักนิติธรรม ซึ่งเท่าที่ผมได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงหลักนี้อยู่ในมาตรา 3 เช่นเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น กรรมาธิการยกร่างชุดปัจจุบันได้ส่งผ่านความคิดทางวิชาการต่อหลักนิติธรรมโดยการบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 217 ขยายความให้มีความเข้าใจว่า หลักนิติธรรมหมายถึงหลักอะไร เพื่อให้องค์กรต่างๆซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติว่าการใช้อำนาจรัฐของทุกๆองค์กรจะต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม
ฉะนั้น หากทุกฝ่ายมีความเข้าใจสอดคล้องต้องกันว่า จากนี้ไปเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การทำหน้าที่ของทุกฝ่าย จะทำหน้าที่ของตัวเองภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ยามใดที่เกิดข้อถกเถียง เกิดความขัดแย้งทางความคิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เราก็จะตัดสินและหาทางออกร่วมกันภายใต้หลักนิติธรรม
ยามใดที่มีความขัดแย้งจนนำไปไปสู่การตัดสินโดยองค์กรซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินเพื่อระงับข้อพิพาท เราก็จะรับฟังคำตัดสินนั้น และผู้ตัดสินก็จะต้องตัดสินภายใต้หลักนิติธรรม เพื่อให้ข้อพิพาทนั้นยุติลง ไม่ใช่ตัดสินแล้วเป็นการเพิ่มเติมความขัดแย้ง
ผมเชื่อว่า ภายใต้ความคิดของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ได้บรรจุหลักนิติธรรมไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุด จะเป็นการปูพื้นฐานให้กับผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่อการใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนต่อไปในอนาคต ภายใต้หลักนิติธรรม
หลักนิติธรรมนี้ จะกลายเป็นหลักการสำคัญของประเทศไทยและจะทำให้การปกครองของประเทศ โดยเฉพาะระบบการเมืองของประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองที่เข้มแข็ง เป็นการเมืองที่สมบูรณ์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขอบคุณภาพจาก anblogilaw.blogspot.com