แรงงานนอกระบบขอขยายสิทธิประโยชน์ ม.40 ให้เทียบเท่ามาตรา 33
“ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม” ตามหลักการของพ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับใหม่ ปี 2558 ซึ่งอีกไม่นานจะมีผลบังคับใช้ ดูจะเป็นความหวังของ กลุ่มคนทำงานอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ซึ่ง “อรุณี ศรีโต” เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน บอกว่า คนทำงานที่พึ่งพาตัวเองมาตลอดไม่มีนายจ้าง แม้จะภูมิใจที่ต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเอง แต่ก็ขาดระบบหลักประกันยามเจ็บป่วย หรือแม้แต่ในช่วงวัยชราที่ประกอบอาชีพไม่ได้แล้ว
มาตรา 40 ตามกฎหมายประกันสังคม จึงถือเป็นความหวังสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระหาเช้ากินค่ำ แต่เพื่อให้กฎหมายนำไปสู่การปฏิบัติตามหลักการของความเท่าเทียม เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมตัวกันเพื่อเรียกร้องไปยังสำนักงานประกันสังคม เพื่อขยายสิทธิ์ประโยชน์ มาตรา 40 ให้เทียบเท่ามาตรา 33 คือการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ 7 ประการ ทั้ง เจ็บป่วย 2.ทุพพลภาพ 3.ตาย 4.คลอดบุตร 5 ชราภาพ 6.สงเคราะห์บุตร หรือแม้แต่การประกันรายได้จากการทำไม่มีงานทำ
“อยากให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียม เช่น กรณีเงินชดเชยกรณีขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยและนอนพักรักษาตัวหลักเกณฑ์ปัจจุบันต้องเป็นผู้ป่วยใน หรือนอนโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จึงจะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาทและใน 1 ปีได้ไม่เกิน30 วัน จึงอยากเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นให้มีใบรับรองแพทย์ แม้ไม่ได้นอน รพ.ก็สามารถเบิกค่าชดเชยได้”
แม้ว่าพ.ร.บ.ประกันสังคม 2558 ฉบับใหม่จะมีเจตนาคุ้มครองคนทำงานอย่างเท่าเทียมกันแต่กฎหมายลูกที่กำลังร่างเพื่อออกบังคับใช้ อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำได้จริง โดยเฉพาะคนทำงานอิสระ นอกระบบ ตามมาตรา 40 เพราะสิทธิประโยชน์น้อยกว่า มาตรา 33 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีนายจ้าง
"การออกกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้ ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ของสิทธิประโยชน์ตามมาตราต่างๆ เช่น มาตรา 40 เพราะแม้แต่ค่าทำศพ ผู้ประกันตนมาตราอื่นๆ ได้ 4 หมื่นบาท แต่มาตรานี้ได้เพียง 2 หมื่นบาทเท่านั้น" อรุณี บอก
ความเป็นไปได้ของการปรับสิทธิประโยชน์ของกลุ่มคนทำงานนอกระบบตามมาตรา 40 นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม บอกว่า ได้รับข้อเสนอของแรงงานนอกระบบในเรื่องการปรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจะเข้ามาร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ตามขณะนี้ สำนักงานประกัน อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางปฏิรูปประกันสังคมมาตรา 40 โดยวางแนวทางเบื้องต้นไว้ 4 เรื่อง คือ การขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบอีกกว่า 20 ล้านคน การพัฒนาสิทธิประโยชน์ เช่น เงินชดเชยขาดรายได้ให้มีจำนวนวันและเงินชดเชยสูงขึ้น เงินค่าทำศพ คลอดบุตรมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มเงินสมทบ
สำหรับประกันสังคมมาตรา 40 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเป็นสมาชิกกว่า 2.5 ล้านคน โดยมีชุดสิทธิประโยชน์ดังนี้ คือ
ชุดสิทธิประโยชน์ 1 โดยต้องจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ใน 100 บาทจะแบ่งเป็นส่วนที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง 70 บาท ที่เหลืออีก 30 บาทรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้ โดยจะได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน 3 กรณี คือ เงินทดแทนรายได้กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ
ชุดสิทธิประโยชน์ 2 โดยต้องจ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน โดยใน 150 บาทนั้น ทางผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง 100 บาท ส่วนอีก 50 บาทนั้นทางรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้ และสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 (เงินบำนาญชราภาพ) โดยขยายให้ผู้สมัครอายุ60 ปีสามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนได้ โดยหากจ่ายสมทบเดือนละ 100 บาท รัฐร่วมจ่ายอุดหนุน 100 บาท จะมีเงินออมเดือนละ 200 บาท แต่ สิทธิประโยชน์ชุดนี้อยู่ระหว่างการปรับรวมกับกองทุนออมแห่งชาติ (กอช.)
แม้สิทธิประโยชน์ 3 ทางเลือกเมื่อเทียบกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งมีนายจ้างยังถือว่าสิทธิน้อยมาก
ดังนั้นการปรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 40 เพื่อให้กับแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมากกว่า 24 ล้านคนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมจึงน่าจะเป็นทางออกที่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฎหมาย ให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วินมอเตอร์ไซด์-แม่ค้าบุกประกันสังคม ขอเพิ่มสิทธิประโยชน์ ม. 40
เเจ๋วร้อง สปส.ขอเข้าประกันสังคมมาตรา 33
เครือข่ายคนทำงานเดินหน้าร่างกม.ลูก ปิดวงจรสีเทา-สร้างความโปร่งใสให้ “ประกันสังคม”
เปิดดูกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ สิทธิประโยชน์ล้น ผู้ประกันตนเฮ