นักวิชาการแนะแก้กม.แพ่งและพาณิชย์ ม.1623 แทนจัดเก็บภาษีพระ
ดร.ปรีชา สุวรรณทัต เสนอแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 ให้ทรัพย์สินที่ได้มาตกเป็นของวัดทั้งหมด ลดข้อครหาพระมีทรัพย์สินครอบครอง และไม่ขัดหลักธรรมพระวินัย ด้านดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ยืนยัน รายงานผลการศึกษา สปช. ไม่มีเนื้อหาสาระเรื่องการเก็บภาษีพระ
ผศ.ดร.ปรีชา สุวรรณทัตอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงแนวคิดเก็บภาษีพระที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน ว่า หากมีการจัดเก็บภาษีพระสงฆ์จริงเท่ากับเป็นการยอมรับให้พระสงฆ์มีทรัพย์สิน มีเงินทองได้ ถึงขั้นเข้าข่ายจะประเมิน และนั่นเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักธรรมวินัย เพราะพระสงฆ์จะมีเงินหรือทรัพย์สินจำนวนมากไม่ได้ มีได้ยินดีได้ตามหลักปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และพระสงฆ์จะจับเงินจับทองไม่ได้ หากมีการถวายก็ต้องถวายผ่านไวยาวัจกร หากพระสงฆ์รูปใดมีเงินเป็นจำนวนมากถือว่า อาบัติ
ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวว่า สำหรับการจะแก้เรื่องการมีทรัพย์สินของพระสงฆ์นั้นจะต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องมรดกของพระสงฆ์ ในมาตรา 1623 ซึ่งความไม่ชัดเจนในมาตราดังกล่าวทำให้มีช่องโหว่ในเรื่องทรัพย์สิน
"กฎหมายเดิมระบุว่า พระสงฆ์มีทรัพย์สินได้ แต่จะตกเป็นมรดกของวัดก็ต่อเมื่อมรณภาพ และทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างในสมณเพศนั้น หากมรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระ เว้นเสียแต่จะจำหน่ายในระหวา่งมีชีวิตหรือพินัยกรรม เน้นเป็นการเปิดช่องให้พระสงฆ์เขียนพินัยกรรมได้" นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าว และว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาจะต้องแก้มาตรา 1623 เสียใหม่ว่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมณเพศนั้นให้ตกเป็นของวัดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา หากเขียนแบบนี้เมื่อได้ทรัพย์สินมาถือว่าเป็นของวัดทันที และจะไม่สามารถประเมินภาษีได้ พระสงฆ์มีทรัพย์สินเงินทองไม่ได้ หมดปัญหา และยังสอดคล้องกับหลักธรรมวินัยด้วย
ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวถึงในส่วนทรัพย์สินเงินทองของหลวงพ่อคูณ ที่กำลังเป็นปัญหา ถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นทุกอย่างก็จะตกเป็นของวัดบ้านไร่ เว้นแต่ท่านจะทำพินัยกรรม ดังนั้นหากแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1623 พระภิกษุกับกฎหมายมรดกก็จะส่งผลให้ต่อไปทำพินัยกรรมไม่ได้อีกแล้ว ได้ทรัพย์สินมาตกเป็นของวัดทันที จะแบ่งให้ญาติโยมไม่ได้
ด้านดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความในเฟชบุค โดยยืนยันว่า ในรายงานผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปฯ ของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาต่อสปช.ไม่มีเนื้อหาสาระเรื่องการเก็บภาษีพระ และสามารถหาหลักฐานข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษรได้
สำหรับเนื้อหาสาระหลักของรายงานดังกล่าว ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า ระบุชัดเจนถึงสภาพปัญหาของกิจการพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน และแนวทางการดำเนินการเพื่อปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
(1) เรื่องทรัพย์สินของวัดหรือของพระ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะทำให้แนวปฏิบัติในการบริหารเงินของวัดที่เป็นระบบที่ดี มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ
(2) เรื่องปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อันนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา มีการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางเป็นแนวตั้งมาไว้ที่มหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล การขาดการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัททั้ง 4 ในการดูแลวัด รวมถึงปัญหาที่พระจำนวนมากบวชแล้วไม่ศึกษาปฏิบัติตามหลักธรรม แต่บวชเพื่อหาเงินรายได้ส่วนตัว
(3) เรื่องการทำให้พระธรรมวินัยวิปริต และการประพฤติปฏิบัติวิปริตจากพระธรรมวินัย โดยมีลัทธิสมอ้างว่าปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา แต่ความเป็นจริงขัดแย้งหรือตรงข้ามโดยสิ้นเชิง ควรจะต้องมีคณะกรรมการชำระการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย เปรียบเสมือน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ใครบิดเบือนหรือละเมิดรัฐธรรมนูญจะต้องถูกตัดสินวินิจฉัย
(4) เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการฝ่ายศาสนจักร การปกครองคณะสงฆ์ไทยมีการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมากเกินไป ส่งผลกระทบให้การดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ เกิดความล่าช้า
"ไม่มีในรายงานส่วนไหนระบุถึงเรื่องการเก็บภาษีพระ หรือการสับเปลี่ยนตัวเจ้าอาวาสเลย" สมาชิกสปช. กล่าว และว่า ประเด็นเรื่อง “เก็บภาษีพระที่มีรายได้ 20,000 บาทขึ้นไป” ไม่มีอยู่ในรายงาน แต่ในวันที่นำเสนอรายงานต่อสปช. ปรากฎว่า สมาชิก สปช.บางท่านได้ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็นส่วนตัว โดยระบุเพียงว่า เงินที่ประชาชนบริจาค ถวายพระ ควรจะเป็นเงินส่วนกลาง เข้าวัด เข้าเป็นสมบัติของกิจการพระพุทธศาสนา มิใช่ของส่วนตัวของพระ ซึ่งอาจจะนำไปจำหน่ายจ่ายโอนให้ผู้อื่น เพราะฉะนั้น หากยังมีพระรูปใดรับเงินถวายเข้าเป็นรายได้ส่วนบุคคลของตนเอง ก็ควรจะต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับรายได้ของบุคคลอื่นๆ ในสังคม เว้นเสียแต่จะนำไปเข้าบัญชีวัด ทั้งหมดนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติมิได้มีมติใดๆ ต่อความเห็นดังกล่าวเลย และที่สำคัญ ความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในรายงานด้วย