สกว.ระดมสมองทำโรดแมปวิจัยผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
สกว.จัดเวทีระดมสมองแลกจัดทำโรดแมปประเด็นวิจัยยุทธศาสตร์ทางทะเล เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล เน้นบูรณาการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ หวังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
เร็ว ๆ นี้ ผศ. ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยประเด็นวิจัยยุทธศาสตร์ เรื่อง "ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล” ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน
รศ. ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า การจัดเวทีในครั้งนี้จะรวบรวมข้อมูลและประมวลสถานภาพการวิจัย เพื่อเสนอประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศและความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอแนะกรอบการทำงานและแนวทางรูปแบบการบริหารกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์
ทั้งนี้ หากย้อนหลังการขับเคลื่อนการวิจัยของไทยพบว่า มีงานสำคัญ 2 ส่วน คือ
ด้านนโยบายและกลไกต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนให้มี คณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล (อจชล.) ตลอดจนรูปแบบความรู้ทั้งเว็บไซต์และงานต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ในการให้สัตยาบันที่ลงนามไปเมื่อปี 2554
ด้านประเด็นเชิงลึก ทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง งานวิจัยเชิงพื้นที่/ชุมชน การจัดประชุมระดับชาติและกลุ่มย่อยกับนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับการหามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาบริหารัดการทางทะเลอย่างยั่งยืน
โดยมีพื้นที่ศึกษา ได้แก่ ภาคใต้และอ่าวไทย เช่น แรงงานประมงต่างด้าว ผลกระทบของชุมชนจากโครงการ ปัญหาอุปสรรคของการนำนโยบายไปปฏิบัติ วิถีชีวิตชุมชน การประมงพื้นบ้าน การมีส่วนร่วมของชุมชน และบทบาทของ อปท. แต่เนื่องจากมีพันธะสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับจึงต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดรับ เช่น การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แรงงาน
การมุ่งหน้าสู่ประเด็นทะเลในอนาคตนั้น หัวหน้าโครงการฯ พบว่ามีประเด็นที่หลากหลายแต่สามารถเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะเรื่องระบบนิเวศทางทะเล เช่น ปัญหาการกัดเซาะ ปะการังฟอกขาว ภายใต้กรอบใหญ่คือ การศึกษามูลค่า อุตสาหกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล เศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศ อาทิ การผลิตสินค้าบางประเภท การท่องเที่ยว ท่าเรือ คมนาคมขนส่ง ทรัพยากรพลังงาน เป็นต้น ซึ่งจะต้องพิจารณาว่ามีการเชื่อมโยงและส่งผลต่อประโยชน์ทางทะเลและมิติวิถีชีวิตสังคมอย่างไร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"ทิศทางงานวิจัยจะต้องจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัย และทำให้เกิดการปฏิบัติเพื่อหาทางออก เป็นข้อมูลเชิงนโยบาย รวมถึงสร้างข้อมูลพื้นฐานให้นักวิจัยรุ่นใหม่มาทำงานต่อ และจะทำงานวิจัยในระดับใดที่ต้องการนักวิจัยต่างกัน" รศ. ดร.โสภารัตน์ กล่าว
ด้านพล.ร.ท.ชุมพล ลุมพิกานนท์ เจ้ากรมกิจการพลเรือน กองทัพเรือ กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานจะดำเนินการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ เพราะบรรจุในแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลของรัฐบาลที่ต้องครอบคลุมทั้งมิติความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน จึงเสนอให้ สกว. หาเจ้าภาพหลักและเจ้าภาพร่วมในการให้ความรู้ บูรณาการร่วมกัน จัดตั้งสถาบันกิจการทางทะเล ดูแลประมง สิ่งแวดล้อม ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สร้างความตระหนักให้คนได้รับรู้ หวงแหนทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม แต่ต้องตอบโจทย์สังคมได้ ตัวอย่างเช่น อุบัติภัยทางทะเล ภัยคุกคามที่มีผลกระทบกับทุกมิติ ปัญหาปากท้องของประชาชน
ขณะที่รศ.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าวิชาการต้องพร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยจะต้องดูพื้นที่ศึกษาและทรัพยากรก่อนแล้วจึงจัดทำชุดโครงการวิจัย เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประมงมีทั้งปัญหาแรงงานกับเทคโนโลยี ปัญหาเรื่องสต็อกกับการใช้ประโยชน์ มูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ผศ. ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ประเด็นที่ควรดำเนินการคือ งานวิจัยที่เป็นฐานองค์ความรู้เพื่อให้สัตยาบันหรือทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ งานวิจัยที่รองรับนโยบายของรัฐในภาพใหญ่ เช่น ระบบนิเวศ ทรัพยากรชายฝั่ง งานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของชุมชน และงานวิจัยด้านมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชาติ .