วงถกแก้โรฮิงญาพม่าปะทะคารม UNHCR ภาพรวมยังไร้ข้อสรุป
เวทีการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558 ไม่ได้ข้อสรุปใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญา นอกจากการเพิ่มเงินช่วยเหลือในการดูแลด้านมนุษยธรรม
ขณะที่ประเด็นที่สื่อทุกแขนงให้ความสนใจ กลายเป็นวิวาทะระหว่างเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) กับผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์
นายวอลเคอร์ เทิร์ค ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ด้านการปกป้อง ของยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวในวงประชุมตอนหนึ่งว่า เป้าหมายสูงสุดของการจัดการปัญหา คือการให้สัญชาติคนที่โยกย้ายถิ่นฐาน ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ของเมียนมาร์ที่ต้องยอมรับประเด็นปัญหาโดยเร็ว รวมถึงให้ผู้ที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานมีสิทธิขั้นพื้นฐานเสมอกับพลเมืองพม่าทั่วไป
ส่วนผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่ประเทศต้นทางได้ ต้องได้รับการปกป้อง โดยการแก้ปัญหาจะทำไม่ได้เลยหากไม่มีการพูดถึงสาเหตุต้นตอที่แท้จริง
ด้านผู้แทนพิเศษจากกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ กล่าวว่า แต่ละประเทศมีปัญหาภายในของตัวเอง และมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ภายในอาณาเขตของตน ความร่วมมือระหว่างกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญและดี แต่การชี้นิ้วไปยังประเทศใดว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาจะไม่ช่วยอะไร เนื่องจากเหตุผลในการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจและเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
โอกาสนี้ เมียนมาร์ขอแสดงความผิดหวังต่อการแถลงของผู้แทนจากยูเอ็นเอชซีอาร์ที่ไม่รอบด้าน และได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งหากยังไม่เข้าใจปัญหาได้ดีกว่านี้ ก็จะไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้
ไทยอนุมัติเปิดหน้าฟ้าให้มะกัน
การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย มีเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่ีระดับปฏิบัติการจาก 17 ประเทศเข้าร่วมประชุม รวมถึงบังคลาเทศ และเมียนมาร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นทางการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญา
ผลของการประชุมที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอโอเอ็ม มอบเงินให้รัฐบาลไทยจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 64 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการช่วยเหลือผู้อพยพในทะเลของไทย ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียก็ประกาศให้เงินช่วยเหลือเช่นกัน
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติด้วยวาจาให้เครื่องบินของสหรัฐบินเข้าเขตน่านฟ้าไทยได้ สำหรับปฏิบัติการลาดตระเวนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย
แอมเนสตี้ฯจี้ช่วยผู้อพยพกลางทะเล
อีกด้านหนึ่งของการประชุม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เรียกร้องนานาชาติ โดยเฉพาะชาติอาเซียนให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนต่อผู้อพยพที่ยังลอยเรืออยู่กลางทะเล พร้อมขอให้มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน จัดประชุมฉุกเฉินตามกฎบัตรเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์โรฮิงญา
นางชื่นสุข อาศัยธรรมกุล กรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมคณะเยาวชน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกของเลขาธิการแอมเนสตี้ฯ ถึงผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย โดยในส่วนของประเทศไทย มี นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรับ โดยเรียกร้องให้ไทยใช้โอกาสจากการประชุมครั้งนี้ หาแนวทางความร่วมมือและดำเนินการทันทีในการคุ้มครองชีวิตของผู้เสี่ยงภัยในทะเล
พร้อมกันนั้นยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียน และประเทศออสเตรเลีย ประสานความร่วมมือในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ที่ตกอยู่ในความยากลำบาก โดยอนุญาตให้เรือที่บรรทุกผู้อพยพเข้าฝั่งในประเทศที่ใกล้ที่สุดอย่างปลอดภัย และไม่ผลักดันเรือโดยการข่มขู่หรือคุกคาม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน อาทิ ที่พัก อาหาร น้ำ ยารักษาโรค และการดูแลสุขภาพ
สำหรับมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ควรจะประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ตามกฎบัตรอาเซียน ส่วนเมียนมาร์จะต้องยุติการเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา รวมทั้งประกันการเข้าถึงรัฐยะไข่อย่างเสรี อำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับเข้าไป และให้หน่วยงานด้านมนุษยชนระหว่างประเทศสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : อ่านสรุปผลการประชุมอย่างเป็นทางการได้ในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ http://goo.gl/SFoCyM
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ