ต้องลงโทษคนที่ไม่ยอมเสนอถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ”ทักษิณ”
รู้สึกแปลกใจมากว่า ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่งมาทำเรื่องเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่ควรดำเนินการมานานหลายปีแล้วตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ให้จำคุก 2 ปี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีคุณหญิงพจมาน ชินวัตรซื้อที่ดินถนนรัชดาภิเษกจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมูลค่า 772 ล้านบาทโดยมิชอบ
เช่นเดียวกันทำไมสำนักนายกรัฐมนตรีไม่เสนอให้มีการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้เพราะถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกในคดีเดียวกัน
การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ เมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือถูกไล่ออก ปลดออกเพราะกระทำผิดวินัย ล้วนต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชฯและถอดยศกันถ้วนหน้าซึ่งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองบางคน เช่นนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการทรวงมาดไทย ถูกพิพากษาจำคุกคดีซื้อขายที่ดินบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึง พล ต ต อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกคดีจัดซื้อรถดับเพลิง มีสิทธิพิเศษอะไรจึงไม่ถูกถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชฯเช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ
ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่หน่วยงานต้นสังกัด เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพมหานครที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่รวบรวมข้อมูลและนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอเรื่องไปยังสำนักราชเลขาธิการ ต้องถูกลงโทษตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ เพราะเห็นชัดว่า มีการเลือกปฏิบัติ เพราะ เมื่อข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการทั่วไปกระทำความผิดที่เข้าเงื่อนไขการถอดยศ และเรียกคืนเครื่องราชฯจะมีการดำเนินการทันที
แต่กรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น มีการดึงและดองเรื่องไว้นานหลายปี เพิ่งจะมาดำเนินการเมื่อต้นพฤษภาคม 2558 นี่เอง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ประกาศมาตลอดว่า จะปฏิรูปประเทศและทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผล ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ในจำนวนผู้ที่ดองเรื่องดังกล่าวไว้ จะเป็นทีมงานข้างกายและเป็นถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ตาม
ในกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น หลังจากที่ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกแล้ปรากฏว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการเสนอถอดยศไม่ยอมดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความถึง 2 ครั้งซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจที่จะทำได้ ทำให้น่าสงสัยว่า ระเบียบ กฎหมายเรื่องนี้มีความซับซ้อนแค่ไหน จึงมีการตะถ่วงเรื่องนานเกือบ 7 ปี ลุมาถึงยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บัญชาการ จึงปัดฝุ่นเรื่องนี้มาดำเนินการ
ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก เกี่ยวกับการเรียกคืนเครื่องราชฯ คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์พ.ศ. 2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้ลงนามเองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 สิงหาคม 2548
ส่วนที่สอง เกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ คือ พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งออกมาสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีและระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ มี พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้น เป็นผู้ลงนามและประกาศใช้ ณ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2547
การเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชฯดังกล่าวตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยนายกรัฐมนตรีเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีซึ่งในการประกาศใช้ระเบียบดังกล่าวได้ระบุความเป็นมาของตราระเบียบดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
“โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลายฉบับได้กำหนดไว้ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประกอบกับปัจจุบันยังมิได้กำ หนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและรวบรวมกรณีที่จะเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้เป็นระเบียบแน่นอน สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวางระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต”
ระเบียบดังกล่าวกำหนดเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชฯไว้ดังนี้
(1) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต
(2) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(4) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(5) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(6) เป็นผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(7) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
(8) เป็นผู้ประพฤติตนไม่สมเกียรติหรือนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปใช้ในกรณีไม่สมควร
จากเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชฯข้างต้นเห็นชัดว่า กรณี พ.ต.ท.ทักษิณถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกถึงที่สุดและไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และยังถูกศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ 46,000 ล้านฐานร่ำรวยผิดปกติเมื่อกุมภาพันธ์ 2553อีกด้วย
จึงเข้าเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชฯตามระเบียบข้อ 2 และ ข้อ3 ดังกล่าว
เมื่อปรากฏเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชฯแล้ว ระเบียบได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ดังนี้
หนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดำเนินการเรียกคืนทุกชั้นตรา เว้นแต่กรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่เพียงบางชั้นตรา
สอง เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดมีกรณีที่ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
สาม เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้วหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
สี่ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกคืนแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ห้า เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนจากผู้ได้รับพระราชทานหรือทายาทของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แล้วแต่กรณี โดยพลัน
หก หากผู้ได้รับพระราชทานหรือทายาทของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่สามารถส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยประการใด ๆ ให้ใช้ราคาตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดในกรณีที่ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดซึ่งมีเหตุที่จะต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วได้วายชนม์ลง ให้ดำเนินการเรียกคืนโดยพลัน
เครื่องราชฯของ”ทักษิณ”ที่ต้องถูกเรียกคืนมีชั้นไหนบ้าง
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2545 ดังนี้
พ.ศ. 2517 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
พ.ศ. 2519 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
พ.ศ. 2523 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
พ.ศ. 2528 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ. 2537 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ. 2538 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2539 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2544 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
พ.ศ. 2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ชั้นเจ้าพระยา)
ทั้งนี้ตามระเบียบ การเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต้องดำเนินการเรียกคืนทุกชั้นตรา เว้นแต่กรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่เพียงบางชั้นตราซึ่ง การเรียกคืนเครื่องราชฯหมายถึง การดำเนินการถอนชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทาน ตามประกาศสำ นักนายกรัฐมนตรี และเรียกเครื่องราชฯรวมทั้งประกาศนียบัตรกำ กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานคืน
การถอดยศตำรวจ
การถอดยศตำรวจมีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 28โดยระบุแต่เพียงว่า ” การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ”
ดังนั้นจึงมีการตราระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจและประกาศใช้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2547
ระเบียบดังกล่าวเริ่มต้นด้วยคำปรารภเกี่ยวกับเหตุผลในการถอดยศว่า “เนื่องจาก ผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป”
ระเบียบดังกล่าวมิได้จำกัดตำรวจที่จะถูกถอดยศไว้เฉพาะตำรวจที่รับราชการอยู่เท่านั้น โดยระเบียบข้อ 1 ระบุว่า “การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว”
ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดการกระทำหรือเหตุที่จะถูกถอดยศไว้ 7 ประการ แต่ที่เข้าข่ายกรณี พ.ต.ท.ทักษิณมีอยู่ 2 ประการคือ
ข้อ (2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
ข้อ(6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
จากระเบียบดังกล่าว เห็นชัดว่า กรณีพ.ต.ท.ทักษิณซึ่ง “ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก..เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท”หรือ “ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป “มีการกระทำหรือเข้าเหตุแห่งการถูกถอดยศอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวว่า ต้องเป็นการฆ่าคนตาย ค้ายาเสพติด ทุจริต เท่านั้น
เมื่อเข้าเหตุหรือมีการกระทำดังกล่าวแล้วระเบียบได้กำหนด “หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจ”ไว้ดังนี้
หนึ่ง ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศ แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ …
สอง ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ….ทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป
ถ้าผู้บังคับการกองวินัยทราบเรื่องแล้วไม่ดำเนินการเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมเข้าข่ายละเว้นการการปฏิบัติหน้าที่ เพราะในระเบียบระบุชัดว่า เป็นหน้าที่ “หน้าที่ความรับผิดชอบ”
เช่นเดียวกับ ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รับเรื่องจากกองวินัยแล้ว นิ่งเฉยก็ต้องตกอยู่ในสถานะเดียวกัน
การเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณที่ตกเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงเพราะในช่วงที่ผ่านมามีนายตำรวจ-ทหารจำนวนมากถูกถอดยศเพราะต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุด