แอมเนสตี้ฯ ยื่น จม.เปิดผนึกรัฐบาลไทย-มาเลย์ แก้โยกย้ายถิ่นฐานเร่งด่วน
‘พล.อ.ธนะศักดิ์’ ยันไทยจริงใจแก้ปัญหาโยกย้ายถิ่นฐานมหาสมุทรอินเดีย ด้านแอมเนสตี้ฯ ยื่นจม.เปิดผนึกรัฐบาลไทย-มาเลเซีย เร่งเเก้วิกฤติผู้ลี้ภัย ระบุไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดต้องรับภาระ ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณ 11.30 น. ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (รมว.กต.) แถลงภายหลังการประชุมช่วงเช้าว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว ในการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน
สำหรับแนวทางในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้อพยพของรัฐบาลไทย รมว.กต.กล่าวว่า ขั้นต้นช่วยชีวิตผู้อพยพอยู่ในทะเล ซึ่งขณะนี้มีจำนวนไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้จัดส่งกองเรือไปที่เขตรอยต่อน่านน้ำไทย 2 ลำ เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น และยังได้ตั้งทีมสอบสวน รวมถึงจดบันทึกคัดแยกผู้อพยพก่อนนำไปสู่ที่พักพิงชั่วคราวในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย พร้อมยืนยันไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหาครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้มีเข้าร่วม 17 ประเทศ รวมถึงเมียนมา โดยมีผู้เเทนจากสหรัฐฯ สวิตเซอร์เเลนด์ เเละญี่ปุ่น เเละองค์กรระหว่างประเทศ 3 หน่วยงาน คือ สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้านถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
จากนั้นเวลา 13.10 น. ในระหว่างการประชุมช่วงบ่าย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยผ่านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนพล.อ.ธนะศักดิ์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ และผู้แทนรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อสนับสนุนและยื่นข้อเสนอแนะในการร่วมกันหามาตรการระดับประเทศและภูมิภาคในการแก้ไขวิกฤตผู้ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นางชื่นสุข อาศัยธรรมกุล กรรมการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการความช่วยเหลือเร่งด่วน ทุกประเทศต้องช่วยกันเสาะหาคนลอยเรือกลางทะเลและพยายามนำขึ้นฝั่ง เพื่อให้รอดพ้นจากความตาย ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา และบางประเทศอาจต้องเสียสละพื้นที่ให้อยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐบาลเมียนมาห้ามกีดกันผู้อพยพที่ประสงค์กลับไปใช้ชีวิตในรัฐยะไข่เหมือนเดิม โดยต้องคุ้มครองให้รับความปลอดภัย สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กรรมการเเอมเนสตี้ฯ ยังกล่าวว่า แม้การประชุมครั้งนี้จะไม่ตอบโจทย์ความต้องการแก้ไขปัญหา แอมเนสตี้ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไปภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ส่วนข้อจำกัดตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของประเทศที่ได้ลงนามต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้อง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กรณีผู้อพยพไม่ปกติไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดที่ต้องแบกรับภาระไว้ แต่ทุกประเทศในโลกต้องช่วยกัน
“ขณะนี้มีการรณรงค์ ‘ปฏิบัติการณ์ด่วน’ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เผชิญความเสี่ยงอยู่กลางทะเลกว่า 6 พันคน โดยมีผู้สนับสนุนร่วมลงชื่อกว่า 2.7 หมื่นคน ซึ่งยังเปิดรับรายชื่ออย่างเนื่อง และจะรวบรวมส่งถึงรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป” นางชื่นสุข กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลา 17.00 น. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะเเถลงผลการประชุมในช่วงบ่ายต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง .