ถอดความคิด "ศุ บุญเลี้ยง" เส้นทางความฝันที่เกิดจากความพยายามและการสั่งสมความรู้
“เขียนให้ดีมันไม่ยาก แต่ต้องเริ่มจากการเขียนไม่ดีก่อน แล้วเขียนออกมามากๆ ไม่ใช่พอเขียนออกมาไม่ดี ก็ไม่อยากเขียนแล้ว อยากหยุด และคิดว่า ไม่มีพรสวรรค์”
เมื่อเร็วๆ นี้ บริเวณลานสานัน ถูกจัดให้เป็นสถานที่เปิดตัวหนังสือเรื่อง “ความฝันของหญิงสาวที่นั่งหาวอยู่ริมหน้าต่าง”ของจุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ที่หลายคนอาจจะคุ้นตาหรือรู้จักเขาในฐานะสมาชิกวงเฉลียง
นอกเหนือจากงานเพลงแล้ว การเขียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ "ศุ บุญเลี้ยง" ให้ความสนใจ
"ศุ บุญเลี้ยง" บอกเล่าด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่า เขาเป็นนักเขียนมานานถึง 20 ปีแล้ว และหนังสือเรื่องความฝันของหญิงสาวที่นั่งหาวอยู่ริมหน้าต่าง ก็เกิดจากการสั่งสมของตนเองในช่วงเวลาของการเป็นนักเขียนตลอด 20 ปี แต่ก็ใช่ว่าจะสร้างงานเขียนเพียงเท่านี้ และไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเวลาจะเขียน แต่การถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ จะต้องสั่งสมเรื่องราว
เขาเท้าความให้ฟังว่า "มีนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า ว แหวน ออกหนังสือเป็นของตัวเองและส่งมาให้โดยจ่าหน้าซองว่า ขอบคุณที่เดินไปข้างหน้าแล้วให้ความกล้าเป็นของขวัญ เราก็งงว่า ไปรู้จักกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งเขาก็อธิบายและบอกว่า ที่จริงไม่ได้รู้จัก แต่สิ่งที่ผมทำสร้างให้เขามีความกล้าในแบบวิถีทางของเขาและสามารถที่จะเดินในเส้นทางที่ตัวเขาอยากจะเดิน และนั่นก็ทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกดีว่า สิ่งที่เราทำสามารถที่จะเป็นของขวัญให้กับผู้อื่นได้โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย แต่เป็นหนังสือที่เราเขียนทำหน้าที่แทนและทำให้คนเหล่านั้นเข้าใกล้ความฝันและรู้จักความฝันมากขึ้น"
สำหรับการเริ่มต้นงานเขียนที่ดีนั้น ศุ บุญเลี้ยง บอกว่า ต้องเริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบผลงานที่ประสบความสำเร็จแล้วนำมาเป็นตัวอย่าง
พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ว่า หนังสือเล่มแรกๆนั้นก็เริ่มมาจากการลอกคนอื่น แล้วเป็นการลอกเลียนแบบตั้งแต่บรรทัดแรกโดยที่ไม่รู้ตัว พอย้อนกลับไปดูงานเขียนของตนเองพบว่า เหมือนกันมาก
"แต่การลอกเลียนแบบของผมไม่ใช่ลอกเขามาทั้งหมดทุกตัวหนังสือ แต่เป็นการอยากเปลี่ยนตรงไหนก็เปลี่ยน อยากเติมส่วนไหนก็เติม อย่างไรก็ตามไม่ได้จะบอกว่า การลอกเลียนแบบคือทั้งหมดเพราะนั่นไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือต้องมีการเรียนรู้ โดยนำสิ่งที่คนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จ ถูกย่อยแล้ว มาคิดวิเคราะห์วิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไรเพื่อสุดท้ายจะได้เข้าใจ"
ดังนั้นการที่ "ศุ บุญเลี้ยง" มีวันนี้ได้ก็ไม่ได้ผ่านมาง่ายๆ ไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่ได้มาง่ายสักอย่าง แต่ไม่เคยท้อและต้องเดินไปข้างหน้าตามประสาคนช่างฝัน และตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความอยากนั่นคือการอ่านหนังสือ
การอ่านหนังสือนั้นไม่จำเป็นว่าอ่านแล้วต้องรู้ความหมาย และพ่อแม่เองอย่าบังคับลูกให้ตอบ เช่น ทำไม ไก่ถึงจิกเด็กตายบนปากโอ่ง ขอแค่อ่านแล้วได้อรรถรส ได้ปรัชญาของเรื่อง เพราะหากเราติดรสชาติของหนังสือก็จะเกิดความรู้สึกอยากอ่านเอง ฉะนั้นเวลาอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่ายาก ขบเกินไป อย่าเพิ่งเลิก เพราะมันสนุกตรงนี้ ได้ขบ ได้เคี้ยว เหมือนกินหมูติดมัน ติดเอ็น ถ้าเอาออกก็กินง่าย แต่กินแบบไม่เอาออกจะอร่อยกว่า นี่คือการเสพงานเขียน
“การอ่านจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสั่งสมความรู้ให้กับผม เพราะทำให้ผมมีความอยาก และเริ่มเข้าห้องสมุดกับเพื่อนผู้หญิง แรกๆเหตุผลที่ไปเพราะสนใจเพื่อนผู้หญิง แต่พักหลังพออ่านไปเรื่อยๆก็เริ่มติดหนังสือและไม่สนใจผู้หญิงคนนั้นอีกเลย การอ่านมากๆทำให้รู้ว่า นักเขียนแต่ละคนมีวิธีการเขียนที่แตกต่างกัน ทำให้เห็นฝีมือและชั้นเชิงว่าเป็นอย่างไร และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมสร้างสรรค์ผลงานได้”
จุ้ย "ศุ บุญเลี้ยง" ยังบอกอีกว่า ใครที่อยากเขียนแต่ไม่อยากอ่าน แต่อยากมีสำนวน แล้วทำไมต้องลอก คุณคิดว่า ถ้าไม่ลอกมาก่อน แล้วคิดว่างานที่เขียนขึ้นมานั้นจะดีได้อย่างไร ก็ต้องดูคนอื่นบ้าง ไม่ต้องพยายามเป็นตัวเอง แต่พยายามอย่าชอบคนเดียว ต้องชอบหลายๆคน เมื่อมันคลุกเคล้ากันมันจะเป็นตัวเราเอง
สำหรับบรรดาเหล่านักฝันที่อยากเขียนแต่ไม่อยากอ่าน ให้มองดูศักยภาพของตนเองว่ามีคุณภาพขนาดไหน หากไม่มากพอก็ต้องทบทวนกับคนอื่นคุณคิดศักยภาพคุณดีแค่ไหน ถึงไม่พึงทบทวนจากคนอื่น
“ผมขอบอก ว่า ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่อ่าน แล้วคุณไม่ลอกหรอ คุณคิดว่าสิ่งที่คุณคิดเองนั้นใหม่สดมากเลยใช่ไหม คือเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะไม่รับอะไรจากผู้อื่น เพราะถ้าไม่รับคุณจะไม้ได้อะไรเลย และอยู่ที่วิธีการว่าเราจะรับอย่างไรมากกว่า เพราะอย่าลืมว่า การเริ่มต้นสำหรับการเป็นนักเขียนที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากการรับข้อมูลจากคนอื่นให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่ชอบอ่าน แต่อยากเขียน เพื่อให้มีผลงานที่เป็นยอมรับของผู้อ่าน ”
ศุ บุญเลี้ยง มองว่า ไม่ว่าจะมีนักเขียน นักร้อง ที่ชอบสักกี่คน แต่เราเป็นใครไม่ได้สักคนนอกจากเป็นตัวเราเอง ถ้าเราอยากเหมือนใครหรือชอบเราก็เอาแบบเขามา แต่อย่าลืมว่า เราเป็นเขาไม่ได้ อย่างผมชอบ นักร้องชอบหลายคน ก็ฟังเพลงเขา ไปดูคอนเสิร์ต อยากเป็นเหมือนเขา แต่สุดท้ายก็เป็นใครไม่ได้เลย ที่สำคัญในการพัฒนาผลงานคืออย่าปิดกั้นคำติชม และคำวิจารณ์
เมื่อถามถึงอาชีพการเป็นนักเขียน จุ้ย "ศุ บุญเลี้ยง" บอกว่า อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่ต้องยึดมั่น และมีความมั่นใจ เปิดใจกว้างๆและทำให้คนอ่านเข้าถึงสิ่งที่เราสื่อออกไป การเป็นนักเขียนที่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง ไม่ได้รับเงินเดือน ก็ไม่ต้องไปถามใครว่าจะเริ่มต้นเขียนอย่างไร แต่เวลาใครเตือนเราก็ต้องฟังว่า ผิดพลาดไปตรงไหนหรือเปล่า
“บางคนเข้ามาคุยแล้วบอกว่าอยากเขียนหนังสือ เขียนให้พี่จุ้ยดูได้ไหม แล้วพี่จุ้ยจะดูจริงไหม ผมตอบจริงสิครับ แล้วถามต่ออีกว่าแล้วพี่จุ้ยจะบอกให้แก้ไหม ผมก็บอกว่า บอกสิครับ แต่มีไม่กี่คนหรอกที่ผมจะบอกให้ แก้ มีไม่ถึง 10 คน ผมก็สอนเขาไปว่าคนที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จนั้นส่วนใหญ่สังคมไม่ได้คัดสรร แต่เขาทำด้วยตัวเอง ถ้าไม่กล้าทำด้วยอย่าหวังเลย”
เขาบอกด้วยว่า การเขียนให้ดีนั้นมันไม่ยาก แต่ต้องเริ่มจากการเขียนไม่ดีก่อน แล้วเขียนออกมามากๆ ไม่ใช่พอเขียนออกมาไม่ดีก็ไม่อยากเขียนแล้ว อยากจะหยุด และคิดว่าไม่มีพรสวรรค์ ซึ่งมันไม่ใช่ อย่าไปคิดอย่างนั้น และอย่ามัวแต่สร้างแรงบันดาลใจจนไม่ได้เริ่มทำอะไรสักอย่าง เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เราเขียนได้ดี สิ่งที่จะช่วยได้คือ ทักษะ เช่นทักษะการเขียน การใช้คำ การเปรียบเปรย ถ้าอยากมีก็ต้องศึกษาถึงแม้ต้องใช้เวลา อย่ามัวโทษว่าไม่มีทักษะ ทั้งๆที่คนเราก็มี ฉันทะ คือความพอใจในผลงาน จิตตะ คือ สมาธิ วิริยะ คือ ความพากเพียร วิมังสา คือ การพิจารณา
อย่างผม มีจิตตะมาก คือ ไม่เคยขยัน อยู่ในโหมดขี้เกียจตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ละสายตาจากการอ่านเลย ฉะนั้นทุกคนที่มีความฝัน ทุกคนมีสิทธิที่จะฝัน เมื่อฝันจึงต้องเรียนรู้ให้มาก แล้วนำมาถอดบทเรียน แต่สังเกตได้ว่าคนไทยไม่ค่อยชอบถอดบทเรียน ไม่ว่าโรงเรียน หรือ หน่วยงานต่าง
“ทุกวันนี้สำหรับตัวผมเอง ผมฝันไว้ว่า อยากเป็นที่ปรึกษาของที่ปรึกษาปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพราะถ้าท่านปลัดอยากทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับการศึกษา ท่านก็จะปรึกษากับที่ปรึกษา และที่ปรึกษาจะมาปรึกษาผม ผมก็จะช่วยให้เด็กเข้าถึงความฝันมากขึ้น เพราะการศึกษาปัจจุบันเหมือนเด็กจะห่างไกลความฝัน บางคนเรียนจบต้องไปทำงานอื่นซึ่งไม่ตรงกับที่เรียนมา นั่นบ่งบอกได้ว่า เขาห่างไกลความฝันของเขามาก ผมจึงอยากช่วย”
และศุ บุญเลี้ยง ศิลปินและนักเขียน ก็เอ่ยทิ้งท้ายก่อนลงจากเวทีว่า ไม่มีสิ่งใดได้มาง่ายๆ แต่ในความ “ยาก” ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดในชีวิต