'มานะ นิมิตรมงคล' ชี้ประมูลเเบบ e-Bidding ป้องกันฮั้วดีกว่า e-Auction
"...การจัดซื้อภาครัฐปี 2556 และ 2557 มีมูลค่ามากถึง 1 ล้านล้านบาทและ 7.9 แสนล้านบาทตามลำดับ แต่ปัญหาคอร์รัปชันยังมีอีกมาก เช่น ล็อคสเปคหรือเขียนทีโออาร์ให้เอกชนบางรายได้เปรียบ การกำหนดราคากลางที่สูงหรือต่ำเกินจริง การแก้ไขแบบแก้ไขสัญญาที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ การส่งมอบสินค้าหรือบริการไม่ถูกต้อง..."
กรณีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มติเห็นชอบให้เร่งรัดการใช้ระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แบบ e-Bidding แทน e-Auction ในการประมูลโครงการขนาดใหญ่ หลังพบระบบเดิมไม่สามารถป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ สร้างความเสียหายกว่า 50,000-100,000 ล้านบาท โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558
โดยเร็ว ๆ นี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ‘มานะ นิมิตรมงคล ต่อกรณีดังกล่าว โดยชื่นชมกรมบัญชีกลาง และอธิบายความแตกต่างของระบบ e – Auction และ e-Bidding ใจความว่า
ชื่นชมกรมบัญชีกลาง...ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจะยกเลิกระบบ e – Auction ที่ใช้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 ที่ดูเหมือนจะทำให้ซื้อของได้ในราคาถูก แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐมักได้ของไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือซื้อในราคาแพงเกินจริง เพราะมีการโกงเกิดขึ้น เนื่องจากความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลหรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการประมูล
เจ้าหน้าของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือบริษัทที่จัดทำ e-Auction ได้กลายเป็นตัวกลางการฮั้วประมูล ที่สำคัญในขั้นตอนการซื้อซองที่เปิดให้ทุกคนรู้ว่ามีใครบ้างที่จะเป็นคู่แข่งในโครงการนั้น ทำให้สามารถวิ่งเจรจาเพื่อสมยอมกันเองระหว่างผู้เสนอราคาหรือกระทั่งขัดขวางปิดกั้นไม่ให้คู่แข่งบางรายเข้าร่วมการประมูลในขั้นตอนต่าง ๆ ได้
กรมบัญชีกลาง ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาใน 'ขั้นตอนการประมูล' โดยใช้ระบบสารสนเทศแบบเปิด บน Internet ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันและลดการพบปะกันเป็นการส่วนตัวระหว่างเจ้าหน้าที่กับเอกชน (Personal Contact) สองกลไกที่จะเริ่มใช้เดือนตุลาคมนี้ คือ
1. e - Market ทำหน้าที่เหมือนกระดานขนาดใหญ่ ที่กรมบัญชีกลางจะประกาศให้ทุกคนรู้ว่าราชการสนใจจะซื้อสินค้าอะไรอยู่บ้าง และเปิดให้พ่อค้าทุกคนสามารถนำสินค้าของตนพร้อมคุณสมบัติและราคาไปติดประกาศบนนั้น เพื่อให้ระบบตรวจสอบเทียบกับความต้องการของหน่วยงาน และแจ้งให้ผู้ค้าเข้าเสนอราคากับหน่วยงานเมื่อถึงเวลา ระบบนี้จะใช้กับสินค้าทั่ว ๆ ไป เช่น กระดาษ ปากกา โต๊ะเก้าอี้ เป็นต้น
2. e – Bidding จะคล้ายกับระบบการประมูลแบบยื่นซองในปัจจุบัน แต่เปลี่ยนใหม่โดยให้คนที่สนใจซื้อซองประมูลราคาไปชำระเงินที่ธนาคาร เมื่อธนาคารแจ้งรับการชำระเงินในระบบแล้ว ผู้ค้าสามารถไปดาวน์โหลดเอกสารหรือซองประมูลเอาเองทาง Internet เจ้าหน้าที่ก็จะไม่รู้ว่ามีใครมาซื้อเอกสารไปบ้าง ถึงเวลาที่กำหนดก็เข้าทำการประมูลหรือส่งเอกสารทาง Internet เช่นกัน ระบบนี้จะใช้กับสินค้าและบริการที่มีเทคนิคหรือคุณสมบัติหรือบริการพิเศษ เช่น คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ งานก่อสร้าง เครื่องจักร เป็นต้น
ก่อนการประมูลจะมีการกำหนดว่า การตัดสินให้ใครชนะการประมูลนั้น รัฐจะให้น้ำหนักหรือความสำคัญกับราคาที่ต่ำและคุณสมบัติหรือเหมาะสมของสินค้าหรือบริการหรือประสบการณ์ความพร้อมของผู้ขายอย่างไร
เช่น อาจให้ความสำคัญเป็น 60 : 40 หรือ 80 : 20 เป็นต้น มิใช่วัดกันจากราคาที่ถูกที่สุดเหมือนที่ผ่านมา
การจัดซื้อภาครัฐปี 2556 และ 2557 มีมูลค่ามากถึง 1 ล้านล้านบาทและ 7.9 แสนล้านบาทตามลำดับ
แต่ปัญหาคอร์รัปชันยังมีอีกมาก เช่น ล็อคสเปคหรือเขียนทีโออาร์ให้เอกชนบางรายได้เปรียบ การกำหนดราคากลางที่สูงหรือต่ำเกินจริง การแก้ไขแบบแก้ไขสัญญาที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ การส่งมอบสินค้าหรือบริการไม่ถูกต้อง
ซึ่งผมมองว่าเกิดจากความไม่ยืดหยุ่น ไม่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนด ขาดความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมคิดร่วมตรวจสอบจากคนนอก การไม่ใส่ใจของผู้เกี่ยวข้องและขาดความชำนาญของเจ้าหน้าที่จัดซื้อ
ที่สำคัญคือการขาดคุณธรรม ขาดจิตสำนึก และมุ่งแต่หาผลประโยชน์ของนักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉล รวมถึงผู้ค้าที่เห็นแก่ตัวและชั่วร้ายด้วย