นักวิชาการแนะรัฐไทยดึงยูเอ็นเอชซีอาร์ร่วมกำหนดสถานะโรฮีนจา
นักวิชาการ-ผู้ประสานงานด้านประชากรข้ามชาติ เรียกร้องรัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาช่วยคัดแยกสถานะชาวโรฮีนจา ระบุชัดการแก้ปัญหาต้องวางแนวทางทั้งภูมิภาคอาเซียน ฉะที่ผ่านมาทำงานแบบเฉพาะหน้าไม่มีนโยบายการอพยพระยะยาว
วันที่ 28 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมนักข่าวอาเซียน และ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “ชะตากรรมโรฮิงญา: ว่าด้วยมนุษยธรรมและหลักการของอาเซียนและสังคมโลก” ณ ห้องประชุม1 ชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจัดการแก้ปัญหาโรฮีนจานั้นจะต้องใช้กลไกอาเซียนด้วยการใช้หลักสิทธิมนุษยชนลุกขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนการประชุมที่รัฐบาลไทยกำลังจะขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. พรุ่งนี้นั้นก็ดูเหมือนว่าจะจัดการปัญหาช้าไป เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ประกาศให้ความช่วยเหลือกันแล้ว
นอกจากนี้นโยบายของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการจัดการปัญหาที่ผ่านมาจะมีอยู่ 2 วิธีคือ อย่างแรก ผลักดันแต่ไม่ให้การช่วยเหลือ และอย่างที่สองคือให้การช่วยเหลือก่อนแล้วส่งต่อไป การที่ 3 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียร่วมมือกันแล้วปล่อยให้ชาวโรฮีนจาอยู่กลางน่านน้ำเป็นสิ่งที่น่ากลัวและยังเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
ดร.ศรีประภา กล่าวถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในขณะนี้คืออยากให้ทั้ง 3 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีการกำหนดสถานะที่ชัดเจนว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร มีสถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ ก่อนที่จะได้รับการส่งต่อไปประเทศที่สาม และไม่ควรพูดร่วมๆ ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้คือการค้ามนุษย์ เพราะเหยื่อค้ามนุษย์กับผู้ลี้ภัยมีสถานะที่แตกต่างกัน
"ที่สำคัญคือต้องยอมให้องค์กรยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ(UNHCR) เข้ามาช่วยในการกำหนดสถานะ อีกทั้งยังต้องการให้รัฐบาลไทยมีนโยบายเกี่ยวกับการอพยพเป็นนโยบายระยะยาว ไม่ใช่นโยบายเฉพาะหน้าที่ทำอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง1.จะต้องกำหนดให้มีแนวทางการแก้ไขในระดับภูมิภาค 2.ไทยต้องยอมให้ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามากำหนดสถานะ 3.มีที่พักพิงชั่วคราว และ4.ต้องไม่ผลักดันออกนอกประเทศ"
ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องโรฮีนจาจะต้องมองอย่างตั้งใจและหลายมิติ และการประชุมที่จะกำลังเกิดขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. ก็คิดว่าไม่เป็นประโยชน์มากนัก และไม่หวังกับการแก้ปัญหานี้เท่าใดนักหากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นหากเป็นไปได้หวังว่า รัฐบาลอาจจะใช้มาตรา 44 ประกาศให้ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาคัดแยก เปิดโอกาสให้ชาวโรฮีนจามีสถานะทางกฎหมาย มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถจัดการปัญหาได้ถ้าเราเข้าไม่ถึงเขา ว่าเขาเป็นใครและมากันได้อย่างไร
“ทุกคนมีอคติกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลไทยบอกว่าต้องการความช่วยเหลือแต่ก็ไม่เคยขอความช่วยเหลือ ดังนั้นวันนี้รัฐบาลเองต้องประกาศอย่างเป็นทางการว่าอนุญาตให้เข้ามาช่วยแล้ว เลิกโยนปัญหาให้คนอื่นทั้งหมด เชื่อว่าจะจัดการปัญหาได้ดีกว่านี้ ส่วนการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพถึงจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรมาก แต่ก็น่าจะทำให้เกิดวงคุยกันอย่างต่อเนื่อง และขอรัฐบาลควรหยุดพูดให้น้อยลงและปรามคนของตัวเองบ้าง”
ขณะที่นายวินมิตร โยสาละวิน ผู้สื่อข่าว บีบีซี ภาษาพม่า กล่าวว่า แต่ละประเทศมีปัญหาของตนเองอยู่แล้ว และมักมองปัญหาที่เกิดขึ้นกันคนละแบบ เรื่องของชาวโรงฮีนจาก็คือความเป็นมุสลิมที่รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการเมือง ดังนั้นการจะแก้ปัญหาก็ต้องมองปัญหาทุกด้านควบคู่กันไปด้วย ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าจะช่วยอะไร และการพยายามแก้ที่ผ่านมาก็อาจไม่ได้ถูกทางทั้งหมด ถามว่าวันนี้การแก้ปัญหาโรฮีนจาใช้หน้าที่ของประเทศไทยมาแก้หรือไม่ ก็ไม่ใช่หน้าที่ ชาติตะวันตกออกมาพูดแต่ก็ช่วยไม่เต็มที่ ทั้งๆที่ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษแล้วไม่เคยแบ่งเส้นให้ว่ากลุ่มไหนอยู่ที่ไหนแบบไหนอย่างไร
ส่วนการจะแก้ไขปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ของชาวโรฮีนจานั้น นายวินมิตร กล่าวว่า คนโรฮีนจาต้องยอมรับความเป็นสัญชาติให้ได้ก่อนแล้วถึงมาพูดเรื่องเชื้อชาติทีหลัง ขณะนี้ประเทศพม่ากำลังเปิด และเรื่องสิทธิมนุษยชนมีปัญหากันทุกประเทศ กลุ่มโรฮีนจากลุ่มหนึ่งรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับ ประชาชนพม่าก็ไม่ยอมรับ มีการประท้วงเกิดขึ้นที่ย่างกุ้ง รัฐบาลพม่าไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นสิ่งที่ชาวโรฮีนจาต้องคิดคือความเป็นสัญชาติกับเชื้อชาติอย่างไหนสำคัญกว่ากัน หากยอมรับสัญชาติก่อนทุกอย่างก็จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาษาพม่า กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิสูจน์สัญชาติในเดือนหน้าของพม่านั้นหากพิสูจน์สัญชาติได้รัฐบาลพม่าก็ยินดีที่จะรับชาวโรฮีนจากลับไปประเทศ ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของภาพของคนมุสลิมในสายตาประชาชนชาวพม่า99% คือยอมรับไม่ได้ และหากรัฐบาลพม่ายอมรับก็จะเกิดความรุนแรงขึ้นทันที และต้นเหตุจริงๆอยู่ที่ประเทศบังคลาเทศกับพม่า หากเข้าไปแก้ปัญหาที่บังคลาเทศก่อนหรือหยุดยั้งปัญหาได้บางส่วนสถานการณ์ก็จะดีขึ้นในระดับหนึ่ง
ส่วนอับดุล กาลัม ชมรมชาวโรฮิงญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาลพม่า ที่ผ่านมามีการประท้วงฆ่ากันแต่ทหารพม่ากับอยู่เฉยๆ อาศัยอยู่ในบ้านเกิดตัวเองแต่สร้างแคมป์เหมือนเราคือผู้ลี้ภัย ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยากถามว่าประชาคมอาเซียนว่าอย่างไร ไม่ใช่โยนให้ประเทศไทย หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัญหาทุกอย่างแก้ที่พม่าได้ แต่ทำไมประเทศในอาเซียนจึงไม่ออกมาช่วยกันพูด และนี่คือปัญหาของวันนี้