คปก.กระทุ้งรัฐอย่าแช่แป้งกม.ภาคปชช.!!
กรรมการปฏิรูปกฎหมายจี้รัฐอย่าดองเค็มกฎหมายเสนอชื่อโดยภาคประชาชน เร่งนำเข้าสู่วาระพิจารณาของสภา ส่วนกฎหมายที่ยังล้าหลังควรสะสางก่อนความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ประชาชนกลายเป็นเหยื่อไม่จบสิ้น
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) เปิดเผยศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงแนวทางการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการนำกฎหมายบางฉบับเข้าเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายของเมืองไทยที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนค่อนข้างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีกฎหมายหลายฉบับที่เสนอโดยการเข้าชื่อโดยภาคประชาชนไม่ได้ถูกนำเข้าสภาหรือนำเข้าแต่ไม่ได้รับการพิจารณา กฎหมายหลายฉบับต้องตกไปอย่างน่าเสียดาย โดยอำนาจหน้าที่ของคปก.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ2550 มีภารกิจพัฒนากฎหมายให้เป็นธรรมสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทั้งระบบ โดยมุ่งพัฒนาความรู้ สนับสนุนให้มีงานวิจัย ยึดหลักการการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนทุกขั้นตอน
“กฎหมายเร่งด่วนมีหลายฉบับ อาทิ ร่างกฎหมายองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อม ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับคนพิการ ร่างกฎหมายภาษีที่ดิน โดยเฉพาะองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อม ตรงนี้สำคัญมากเพราะรัฐบาลมีโครงการเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน สร้างเขื่อน สร้างอะไรอีกสารพัด ซึ่งกฎหมายนี้ควรจะออกตั้งแต่ปี2540 และป่านนี้ยังไม่ได้ถูกพิจารณาออกบังคับใช้ ทำให้ผลกระทบความขัดแย้งเกิดขึ้นกับชาวบ้านรุนแรงเป็นระยะๆเป็นเรื่องที่น่ากลัว ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่หลักของกรรมการปฏิรูปฯคือต้องสนับสนุนกฎหมายที่เข้าชื่อโดยภาคประชาชนให้เกิดขึ้นเป็นจริง” นางสุนี กล่าว
รองประธานคปก. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกฎหมายที่ยังไม่เข้าสภาแต่มีการเข้าชื่อของภาคประชาชนแล้วคปก.จะคอยติดตามว่ากฎหมายต่างๆเหล่านั้นเป็นยังไง ถ้ายังมีข้อขัดแย้งก็ต้องเปิดเวทีให้มีการพูดคุยถกเถียงถึงข้อดีข้อเสีย ตรงนี้จะทำให้กฎหมายมีความเป็นธรรมและทันสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายที่ควรถูกยกเลิกแต่ไม่ถูกยกเลิก วันดีคืนดีก็ถูกนำขึ้นมาบังคับใช้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน หรือกลุ่มกฎหมายที่ล้าหลังไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันควรนำมาแก้ไขหรือสร้างใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
“กฎหมายที่ล้าหลัง เช่น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือแม้แต่กฎหมายประกันสังคม กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างชัดเจน หรือกฎหมายผู้เสียหายทางการแพทย์ ก็ต้องออกใหม่เพื่อให้มีความชัดเจนคุ้มครองผู้เดือดร้อน และที่สำคัญกฎหมายทุกฉบับต้องยึดหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล ยึดหลักความเสมอภาคและหว่างเพศ คปก.คาดหวังพัฒนาองค์ความรู้ สร้างฐานความชอบธรรมที่มาจากความร่วมมือของภาคประชาชน รัฐต้องเปิดใจ กฎหมายที่ชาวบ้านเข้าชื่อเสนอ รัฐควรเร่งรัดผ่านกฎหมายเพื่อให้ชาวบ้านทำงานง่ายขึ้นและมีสิทธิ์คุ้มครอง เมื่อผ่านได้แล้วก็จะนำไปสู่กฎหมายอื่นๆอีกมากมาย หากกฎหมายเข้าสภารัฐบาลควรเร่งเข้าวาระให้เร็วอย่านำไปแช่แป้งหรือเอาไว้ในอันดับท้ายๆเพื่อซื้อเวลา ตรงนี้รัฐบาลต้องทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามีความจริงใจ” นางสุนี กล่าว.