สปช.หนุนตั้งธนาคารแรงงาน ลดเหลื่อมล้ำ เข้าถึงเงินออมใช้ยามชรา
สปช.รับทราบรายงานการปฏิรูปแรงงาน เห็นด้วยตั้ง ‘ธนาคารแรงงาน’ ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงเงินทุน ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ ชงรูปแบบปราการ 3 ชั้น ลดความเสี่ยงบริหารงาน ด้านปธ.กมธ.ปฏิรูปแรงงานพร้อมนำทุกข้อเสนอแนะปรับปรุง เชื่อแนวคิดตอบโจทย์
วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปการแรงงาน วาระการปฏิรูปที่ 37 เรื่อง การปฏิรูปแรงงาน ต่อจากเมื่อวานนี้ โดยมี รศ.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่สอง เป็นประธาน
โดยประเด็นสำคัญที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง คือ การจัดตั้งธนาคารแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มีการจัดตั้งขึ้น โดยให้สอดคล้องกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของแหล่งเงินทุนของแรงงานไทย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน และภาวะแรงงานข้ามชาติแย่งงานคนไทย ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของ กมธ.ปฏิรูปการแรงงานและรับทราบความเห็น ข้อเสนอแนะ ซึ่งพล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปการแรงงาน พร้อมรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดนำมาปรับปรุงให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเกิดประโยชน์สัมฤทธิ์ผลต่อไป
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิก สปช. กล่าวว่า แรงงานมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบอบการปกครอง แต่ต้องยอมรับที่ผ่านมามีปัญหาหลายด้าน ที่น่ากังวล คือ แรงงานไทยทำงานต่างประเทศหลายแสนคน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศนับล้านคน
ถามว่าระบบการผลิตไทยมีความสามารถรองรับคนไทยทำงานต่างประเทศหรือไม่ จึงทำให้คนเหล่านั้นต้องละทิ้งถิ่นฐานไปลำบากในต่างประเทศ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ย่อมประสบปัญหานำเข้าแรงงานต่างประเทศราคาถูก ขณะเดียวกันแรงงานไทยต้องดิ้นรนไปต่างประเทศ วันดีคืนดี เมื่อค่าแรงแพงขึ้นก็ต้องปิดกิจการและย้ายฐานการผลิต ซึ่งจะเกิดมากขึ้นในระยะต่อไป
“อยากให้การปฏิรูปแรงงานมองไปข้างหน้าอีก 10-20 ปี แรงงานไทยปัจจุบัน 38 ล้านคน ถ้าไทยมีจีดีพี 6 พันเหรียญดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี เป็น 1-2 หมื่นเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ/คน/ปี เหมือนในเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ แรงงานไทยจะมีชีวิตเป็นอย่างไร” นายพิสิฐ กล่าว และว่า จะต้องถูกกดดันให้ตกงานหรือโรงงานต่าง ๆ นำคนต่างประเทศเข้ามาหรือไม่ ประเด็นไม่เกิดเช่นนั้น เพราะไทยจะอยู่ในวังวนของสภาพประเทศ ‘กำลังพัฒนาที่ไม่อาจเติบโตได้’ เพราะคนมีรายได้สูงไปต่างประเทศ แต่คนมีรายได้ต่ำอยู่ในไทย
นายพิสิฐ ยังกล่าวถึงการออมไว้ใช้ยามชราขาดองค์กรกลางดูแลประเด็นดังกล่าว แม้จะมีกองทุนประกันสังคม แต่พบว่าการบริหารงานยังเป็นระบบราชการ ไม่สามารถใช้งบประมาณจ้างบุคลากรที่มีความสามารถทำงานในระบบนี้ได้ ซึ่งทำให้มีปัญหามากขึ้นในอนาคตและทำงานมีประสิทธิภาพไม่ได้เท่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดำเนินงานอยู่
“ไทยมีแรงงานราว 38 ล้านคน แต่มีราว 10 ล้านคนที่มีการออมไว้ใช้ยามชรา เพราะฉะนั้นระบบการบังคับการออมจึงเป็นเรื่องสำคัญต้องเกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วคนงานที่มีอยู่ เมื่อต้องเกษียณอายุจะมีเงินเก็บไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ไม่ปฏิเสธให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติมให้มากขึ้นต่อไป” นายพิสิฐ ทิ้งท้าย
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สมาชิก สปช. กล่าวถึงการจัดตั้งธนาคารแรงงานว่า ปัจจุบันมีความไม่เท่าเทียมในโอกาสมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักกู้ยืมเงินเสียดอกเบี้ยร้อยละ 20 ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจที่คนเหล่านั้นเข้าไม่ถึงแหล่งทุนเหมือนคนอื่นได้ แต่จะออกแบบธนาคารที่ดินอย่างไรให้นำไปสู่ความยั่งยืนการดำเนินงานและช่วยเหลือประชาชน
แนวคิดเบื้องต้น ยกตัวอย่าง เมื่อจัดตั้งธนาคารแรงงาน สมาชิกกู้ยืมเงินได้ต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม กู้ยืมเงินได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินสะสม และต้องให้นายจ้างลงชื่อรับรอง ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดส่งเงินจะถูกตัดบัญชีคืนธนาคารก่อน คล้ายกับระบบสหกรณ์ของไทย และถือเป็นด่านปราการ 3 ชั้น ช่วยลดความเสี่ยง
นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รูปแบบข้างต้นจะช่วยให้เกิดธนาคารแรงงานได้ โดยเฉพาะจัดตั้งจากขอบข่ายธนาคารภาครัฐช่วยเหลือดำเนินงาน ไม่ต้องจัดตั้งสาขาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนเหมือนสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วไป แต่เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ของประเทศที่ช่วยแรงงานไทย
ขณะที่พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปการแรงงาน กล่าวว่า แนวคิดจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อมุ่งเน้นประโยชน์เกิดขึ้นต่อแรงงานไทยเข้าถึงการออม โดยเฉพาะห่วงใยแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมราว 25 ล้านคน จะสร้างหลักประกันอย่างไร ซึ่ง ‘ธนาคารแรงงาน’ ตอบโจทย์ ช่วยดูแลตั้งแต่พัฒนาอาชีพ และรับสิทธิพิเศษเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงหลักการออม ดังนั้น จึงได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ยึดรูปแบบการพัฒนาจากประสบการณ์ธนาคารของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้เข้ามาช่วยเหลือภาคสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม หากจัดตั้งธนาคารแรงงานสำคัญสำเร็จ ผู้ขาดโอกาส ผู้มีรายได้น้อย ทั้งในและนอกระบบจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ทีนิวส์-ไทยรัฐ