721 องค์กรขอบคุณนายกหลังครม.เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.ยาสูบ
721องค์กรที่ห่วงใยสุขภาพของประชาชนขอบคุณนายกหลังมติครม.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาสูบ ชี้เป็นของขวัญสำหรับเยาวชนและประชาชนไทยเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก
26 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมครม. ว่าที่ประชุมครม. เห็นชอบในหลักการ ร่างพ.ร.บ.ยาสูบ โดยมีการกำหนดรายละเอียดของผู้จะซื้อบุหรี่ จากเดิมอายุ 18 ปี เป็น 20 ปี และห้ามบริษัท ผู้นำเข้าหรือผู้ค้ายาสูบ ทำโฆษณาอุปถัมภ์สนับสนุน กิจการสังคม (ซีเอสอาร์)
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ในนาม 721 องค์กรที่ห่วงใยสุขภาพของประชาชน ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่มี มติผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในวันนี้ซึ่งถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่ท่านนายกมอบให้เด็กไทย และประชาชนไทย เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมที่จะถึง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นการแก้ไข ปรับปรุงจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ทันกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธะผูกพันระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 180 ภาคีของกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก
ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน เพราะขณะนี้ มีนักสูบบุหรี่หน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่าปีละ 200,000 คน ยิ่งกว่านั้นกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นมาตรการสำคัญ ในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อันเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระทางเศรษฐกิจ ทั้งของรัฐและของประชาชนอันเกิดจากการบริโภคยาสูบ ที่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 ล้านบาท นอกจากนี้บุหรี่ยังทำร้ายคนจนเป็นอย่างมาก จากการที่คนจนต้องเจียดเงินที่มีน้อยอยู่แล้วไปกับการสูบบุหรี่ สร้างความลำบากแก่ตัวเองและครอบครัว โดยประชากรกลุ่มนี้เสียเงินค่าซื้อบุหรี่ไปทั้งหมด 7,674 ล้านบาทต่อปี
“ความจำเป็นที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มิใช่เพียงเพราะเหตุผลทางสุขภาพ และเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก แต่ธนาคารโลก ได้เสนอแนะให้ประเทศต่าง ๆ ควบคุมยาสูบอย่างจริงจัง ตั้งแต่ พ.ศ.2534 เพราะศึกษาพบว่าการควบคุมยาสูบส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับครอบครัว”
ขอบคุณภาพจากchang.org