10 เรื่องที่ต้องคุยสำหรับพ่อแม่ เพื่อให้ลูกปลอดจากภัยเว็บโป๊
เมื่อต้องคุยเรื่องเซ็กส์กับลูก ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่จะคุยเรื่องนี้ได้อย่างสะดวกใจ ต่างจากการคุยเรื่องแฟชั่น หนัง เพลง ละคร เพราะการคุยเรื่องเซ็กส์กับลูกได้ พ่อแม่ต้องผ่านการทบทวนและสำรวจความรู้สึกที่มีต่อเรื่องเพศทั้งของตัวพ่อแม่เองและของวัยรุ่น รวมทั้งยังต้องมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการสื่อสารเพื่อให้เกิดบรรยากาศพูดคุยแบบ “เปิดใจ” กับลูกได้
เพียงเรื่องเซ็กส์ที่เกี่ยวกับสรีระร่างกายขั้นพื้นฐาน เช่น “หนูเกิดมาจากไหน” “ทำไมพ่อมีขนตรงนั้น” “หนูจะมีนมเหมือนแม่ไหม” พ่อแม่หลายคนก็รู้สึกกระอักกระอ่วน ไม่แน่ใจว่าควรจะตอบคำถามลูกเหล่านี้อย่างไร ควรบอกลูกมากน้อยแค่ไหน จึงไม่เป็นการ “ชี้โพรง” เมื่อต้องชวนลูกคุยเรือง “คลิปโป๊” ก็อาจจะเป็นขั้นที่ยากมากขึ้นจนพ่อแม่หลายคนคิดว่าตัดปัญหา ไม่ต้องเรื่องมาก ใช้วิธีการห้าม ด่า ดุ ไปเลย ง่ายกว่า
สมาคมป้องกันการกระทำทารุณเด็กแห่งชาติ หรือ NSPCC องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรในประเทศอังกฤษ ซึ่งทำการรณรงค์ ให้ความรู้แก่พ่อแม่และเด็กในเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ และเปิดสายด่วนเพื่อรับแจ้งและให้คำปรึกษาเมื่อเกิดคำถาม ปัญหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ได้ทำการสำรวจเพื่อดูว่าเด็กๆ มีโอกาสได้พบเห็นสื่อโป๊มากน้อยเพียงใด
ผลที่ออกมา ชวนให้เกิดความตระหนกถึงอิทธิพลของสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ว่าอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิดไว้มาก โดยจากการสอบถามพูดคุยกับเด็กจำนวน 700 คน ทางสายด่วนพบว่า
- 1 ใน 10 ของเด็กอายุ 12 -13 ปี เคยเห็นวิดีโอโป๊อย่างโจ่งแจ้ง และกังวลว่าตัวเองจะ “เสพติด” สื่อโป๊
- เด็กอายุ 11 ขวบ เคยติดต่อขอรับคำปรึกษาจากสมาคมเพราะกังวลเรื่องหนังโป๊
- กลุ่มเด็กผู้หญิงมักพูดถึงความรู้สึกของตัวเองว่าอยากจะแต่งตัวและทำแบบเดียวกับที่เห็น “ดาวโป๊” ทำ เพื่อทำให้เด็กผู้ชายชอบตัวเอง
- เด็กผู้ชายอายุ 11 -16 ปี สามารถเอ่ยชื่อเวบโป๊ ซึ่งติดอันดับหนึ่งในห้าเวบโป๊ยอดฮิตได้
ทุกเดือน มีข้อความจากเด็กและวัยรุ่นกว่า 18,000 ข้อความบนกระดานพูดคุย ถามตอบในเรื่องสื่อโป๊ในเวบไซต์ของสมาคมฯ
นอกจากนั้น สถาบันวิจัยเพื่อนโยบายสาธารณะ หรือ IPPR ได้ทำการสำรวจความเห็นเยาวชนในเรื่องเซ็กส์และสัมพันธภาพ กับค่านิยมแบบใหม่ พบว่า วัยรุ่น 61 % บอกว่ารู้สึกห่างเหินและไม่มีความเป็นเพื่อนกับผู้ใหญ่ ต่างจากคนวัยเดียวกัน อีก 56% ของวัยรุ่นบอกว่าผู้ใหญ่นั้นไม่เข้าใจพวกเขาหรือไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ในเรื่องเกี่ยวกับสื่อออนไลน์
ด้วยเหตุนี้ FamilyLive จึงได้ให้คำแนะนำพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในการคุยเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อโป๊กับเด็กๆ ว่าก่อนจะคุย ต้องวางแผน เตรียมตัวเองให้พร้อม โดยคำนึงถึง 10 เรื่องต่อไปนี้
1. อย่ารู้สึกว่าตัวเองต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จึงจะพูดกับลูกได้ เพราะการพูดคุยกับเด็กในเรื่องสื่อโป๊เป็นการพูดถึงความรู้สึกนึกคิด ดังนั้น หากต้องการคุยกับลูกเรื่องนี้ ลองพิมพ์คำว่า xxx ในหน้าเวบไซต์ค้นหาคำของ Google แล้วลองถามความรู้สึกตัวเองว่าเป็นอย่างไรเมื่อเห็นภาพปรากฏขึ้นหน้าจอ เพื่อจะนำความรู้สึกเหล่านั้นมาคุยกับลูก
2. การคุยกับลูกในเรื่องสื่อโป๊ ไม่ใช่การคุยแบบ “พูดจ้อฝ่ายเดียว” แต่คือการ “สนทนา” นั่นแปลว่าต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดถึงความกังวลใจ และถามคำถามที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น และการพูดคุยไม่ใช่ “การอบรมสั่งสอน” หลีกเลี่ยงคำว่า “ห้าม” “อย่า” รวมทั้งการพูดโดยไม่มองหน้าอีกฝ่าย ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ควรพูดขณะที่คุณกำลังขับรถ หรือทำกิจกรรม เช่น ล้างจาน ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน เพราะจะเป็นการพูดโดยไม่ได้สบตากัน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่เห็นปฏิกริยาที่มีต่อกัน แม้จะมีคำกล่าวว่า “ให้ฉวยโอกาสพูดกับลูกทุกครั้งที่ทำได้” แต่สำหรับเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่องสื่อโป๊ การฉวยโอกาส อาจกลายเป็นการทำให้สถานการณ์น่าอึดอัดมากขึ้น จึงควรหาเวลาที่เหมาะสมและนั่งคุยกันอย่างจริงจัง
3. ภาษากายสำคัญมาก เมื่อพูดคุยกับลูกในเรื่องเหล่านี้ เตือนตัวเองไม่ให้เอามือกอดอก นั่งไขว่ห้าง รวมทั้งไม่นั่งประจัญหน้ากันตรงๆ แต่ควรนั่งข้างๆ พร้อมทั้งโอบไหล่ จับมือ หรือแสดงกิริยาที่นุ่มนวลซึ่งทำให้ผู้ฟังสบายใจและพร้อมจะคุยด้วย
4. ใช้สื่อต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ในการเปิดบทสนทนา ทั้งฉากในละคร ในหนังโฆษณา ภาพยนตร์ รวมทั้งหนังสือแฟชั่น พบเจอที่ไหน เซฟไฟล์ หรือตัดเก็บไว้ เพื่อใช้เปิดประเด็นถามความเห็นของลูก
5. ถามลูกกลับทุกครั้งว่าลูกมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ และถ้าลูกรู้สึกอาย อย่ากดดันลูกให้ต้องตอบ ปล่อยให้ผ่านไปสักสองสามวัน แล้วค่อยถามอีกครั้ง โดยทำให้ลูกรู้ว่าเราพร้อมจะฟัง
6. อีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้เราเข้าใจความคิดเห็นของลูกต่อการดูสื่อโป๊ คือถามว่าเพื่อนๆ ลูกคิดอย่างไรกับภาพหลุด คลิปหลุดที่กำลังเป็นข่าวดังทางเโซเชียลมีเดีย แต่อย่าเหมารวมหรือคิดไปเองว่าลูกได้ดูหรือทำแบบนั้น
7. ต้องสร้างความเข้าใจระหว่างการพูดคุยกับลูกเพื่อให้ลูกเข้าใจว่า “เซ็กส์จะเป็นเรื่องสนุก ก็ต่อเมื่อเกิดจากความยินยอมพร้อมใจกันของทั้งสองฝ่ายจริงๆ” ลองชวนลูกคุยเพื่อถามความเห็นว่าลูกเข้าใจความหมายของคำว่า “สมัครใจ” “การยินยอมพร้อมใจ” ว่าอย่างไร คุณอาจคาดไม่ถึงว่าบางครั้ง เด็กผู้ชายยอมทำอะไรบางอย่างที่เป็นการล่วงละเมิดคนอื่น ด้วยเหตุผลเพียงเพราะ “ถ้าไม่ทำ อายเพื่อน” หากอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการล่วงละเมิดว่ามีความหมายอย่างไร สามารถหาข้อมูลได้ที่นี่
8. การพูดคุยกับลูกในเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น จะดีอย่างยิ่งหากยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยแบบ “อบอุ่น” ขณะที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว เช่น ระหว่างกินข้าวเย็น
9. ระหว่างการพูดคุย หากได้ยินบางอย่างจากปากของลูก ซึ่งทำให้คุณถึงกับ “อ้าปากค้าง” หรือ “ตัวเย็นเฉียบ” ด้วยความช๊อก นึกไม่ถึงมาก่อน ขอให้คุณใจเย็นๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ อย่าแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณกำลังโกรธ หรือตกใจ และถามความเห็นของลูกก่อนว่าคิดอย่างไร หรือต้องการให้พ่อแม่ทำอย่างไร ช่วยเหลืออย่างไร อย่ารีบดุด่าว่ากล่าว โดยไม่ปล่อยให้ลูกพูดจนจบ
10. บางเรื่องที่เกิดขึ้นกับลูก อาจต้องแจ้งครูหรือตำรวจให้รับทราบ แต่อย่าเพิ่งรีบแจ้งทันที ให้เวลากับตัวเองและลูก คิดให้ดี ใคร่ครวญให้รอบด้าน และช่วยกันหาทางออก แม้บางครั้งลูกจะแสดงออกว่าไม่อยากให้พ่อแม่ทำอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นก็ตาม
อ้างอิง : บทความจาก 3C4TEEN.ORG
ภาพประกอบจาก toptenthailand.com